จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้จากการให้บริการของนิติบุคคลต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้จากการให้บริการของนิติบุคคลต่างประเทศข้อเท็จจริงU.A จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายของประเทศสก็อตแลนด์ ประกอบกิจการให้บริการทดลองทางเคมีแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน แก่ประเทศต่าง ๆ บริษัทฯ ไม่มีสำนักงานสาขาหรือสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ ตกลงให้บริการทางวิทยาศาสตร์เคมีแก่บริษัทในประเทศไทย โดยบริษัทในประเทศไทยจะทำการตกลงกับบริษัทฯ ต่อเมื่อบริษัทในประเทศไทยได้ตกลงกับลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติ และต้องการนักวิทยาศาสตร์เคมีชาวต่างชาติเท่านั้น บริษัทในประเทศไทยจะตกลงกับบริษัทฯ ให้ส่งนักวิทยาศาสตร์เคมีชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อตรวจสอบส่วนประกอบของน้ำมันร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เคมีชาวไทย ตามวิธีการตรวจสอบน้ำมันตามหลักสากลว่าตรงตามส่วนประกอบตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ ไม่เป็นความลับ และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือส่วนผสมของน้ำมันแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงสูตรหรือส่วนผสมของน้ำมันจะขึ้นอยู่กับบริษัทในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการเองเท่านั้น การให้บริการของบริษัทฯ ในการส่งนักวิทยาศาสตร์เคมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น ไม่มีการถ่ายทอดสูตรลับ กรรมวิธี หรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการบริการวิศวกรรมเบื้องต้น จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้ประเภทค่าสิทธิ แต่ถือเป็นกำไรธุรกิจ ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 13 วรรคสามแห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือแนววินิจฉัยหากการให้คำปรึกษาทางเคมีของบริษัทฯ เป็นการให้คำปรึกษาที่มีลักษณะการถ่ายทอดความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะตัว มิใช่ความรู้โดยทั่วไปแล้ว ค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ เป็นค่าสิทธิ ตามข้อ 13 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น เมื่อบริษัทในประเทศไทยจ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวให้กับบริษัทฯ บริษัทในประเทศไทยจึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10367 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2548 |