จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีว่าจ้างบริษัทต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีว่าจ้างบริษัทต่างประเทศข้อเท็จจริงตลาดฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่มิได้มีสภาพเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น รายได้ที่ได้มาไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ต่อมาตลาดฯ ได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างบริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย เพื่อจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมระบบการซื้อขายและการหักบัญชี รวมทั้งให้บริการปรับปรุงพัฒนาโปรแกรม ดูแลบำรุงรักษา และฝึกอบรมพนักงานของตลาดฯ โดยการจ่ายค่าตอบแทนภายใต้สัญญาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนตามหน้าที่งานซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องกระทำดังนี้ ก. การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ (Hardware) จำนวนเงิน 15.3 ล้านบาท ข. การให้บริการ - จัดทำ Work and Resource Plan จำนวนเงิน 7 ล้านบาท - จัดทำ Requirement Definition Study Report จำนวนเงิน 4 ล้านบาท - จัดทำ Functional Specification จำนวนเงิน 2 ล้านบาท ค. การให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรม ดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น - การพัฒนาโปรแกรม จำนวนเงิน 2 ล้านบาท - การฝึกอบรม จำนวนเงิน 1.7 ล้านบาท - การ lmplementation, Maintenance and Support เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจำนวนเงิน 30 ล้านบาท ปีที่สองจำนวนเงิน 6 ล้านบาท ปีที่สามจำนวนเงิน 6 ล้านบาท โดยการให้บริการตามสัญญา บริษัทฯ จะส่งพนักงานของตนเข้ามาให้บริการในประเทศไทย กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานในสัญญาไม่เกิน 6 เดือนสำหรับการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงพัฒนาและติดตั้งโปรแกรมและฝึกสอนการใช้งานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานของบริษัทฯ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยมีระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน โดยในวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ตลาดฯ ตรวจรับงาน และจ่ายเงินงวดแรกให้บริษัทฯ จำนวน 68 ล้านบาทสำหรับการดำเนินการของบริษัทฯ ภายใต้สัญญา ข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. เฉพาะกรณีการบำรุงรักษาสำหรับปีที่หนึ่ง โดยคงเหลือเงินค้างชำระสำหรับสัญญาดังกล่าวในการบำรุงรักษาสำหรับปีที่สองและปีที่สาม จำนวน 12 ล้านบาท นอกจากนี้ เนื่องจากตลาดฯ มีความจำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทฯ เพื่อให้มีพนักงานของบริษัทฯ ดังกล่าวอยู่ให้บริการดูแลและแก้ไขปัญหาการใช้งานในระยะแรกที่อาจเกิดขึ้น (On-site Support) ซึ่งถือเป็นการขยายจากงาน Implementation Maintenance and Support เดิม โดยทำสัญญาว่าจ้างต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวนเงิน 6 ล้านบาท กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 และอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือแนววินิจฉัย1. กรณีที่พนักงานของบริษัทฯ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2546 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีระยะเวลารวมเกินกว่า 6 เดือนนั้น ไม่อาจถือว่าบริษัทฯ มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ดังนั้น การจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทฯ สำหรับการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ (Hardware) และการให้บริการเพื่อจัดทำ Work and Resource Plan, Requirement Definition Study Report, และ Functional Specification เงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ เมื่อบริษัทฯ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ตลาดฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งกรมสรรพากรแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีการจ่ายค่าตอบแทนจากการให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมดังกล่าว เงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้าลักษณะค่าสิทธิตามข้อ 13 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ตลาดฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 และนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2. กรณีตลาดฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาฉบับใหม่ให้บริษัทฯ ค่าตอบแทนดังกล่าว ถือเป็นค่าตอบแทนที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในโปรแกรมดังกล่าว เงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้าลักษณะค่าสิทธิตามข้อ 13 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ตลาดฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 และนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11414 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2547 |