จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศขายหุ้นในบริษัทไทย
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศขายหุ้นในบริษัทไทยข้อเท็จจริง1. บริษัทฯ แจ้งว่า ลูกค้าของบริษัทฯ คือ บริษัท B จำกัด มีความประสงค์จะซื้อหุ้นของบริษัท C จำกัด จากบริษัท ข .และ ค. ในราคาหุ้นละ 100 บาท จำนวน 100,000 หุ้น และจำนวน 130,000 หุ้น ตามลำดับ ราคาหุ้นที่จะซื้อดังกล่าว มีมูลค่าสูงกว่าราคาทุนหุ้นละ 60 บาท บริษัททั้งสองเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนภายใต้กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย 2. บริษัทฯ หารือดังนี้ 2.1 กรณีที่บริษัท B ได้จ่ายเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัท ข. และบริษัท ค.บริษัท B จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร 2.2 กรณีที่บริษัท ข. และบริษัท ค. เป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย การที่บริษัททั้งสองได้รับเงินค่าขายหุ้น บริษัททั้งสองจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4) (ช) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีที่บริษัท ข. และบริษัท ค. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ได้ขายหุ้นให้บริษัท B ในประเทศไทย โดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวถือเป็นผลได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยตามข้อ 13 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น บริษัท ข.และบริษัท ค. จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ประเทศไทย โดยบริษัทฺ B ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/4044 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 |