Skip to Content

จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีชำระเงินค่าซอฟแวร์ไปต่างประเทศ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีชำระเงินค่าซอฟแวร์ไปต่างประเทศ


ข้อเท็จจริง

1. บริษัท A. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินเดีย และไม่มี

สำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย ได้ขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "PROMIS" Software ให้แก่

บริษัท B. ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดและราคาปรากฏตามใบสั่งซื้อและหนังสือของ B. ที่

DMS01-L056 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ดังนี้

1.1 รายการ 60 Special Lan Price for บริษัท B. MV Div. (USD

22,500.-) โดยพื้นฐานเป็น Software มาตรฐานเพื่อการเขียนแบบวงจรควบคุมทางไฟฟ้า ซึ่งทาง

บริษัท B. ได้ขอให้มีการปรับเพิ่มความสามารถบางประการของโปรแกรม (ตามรายการที่ 90) เพื่อให้

สนองความต้องการจำเพาะของ บริษัท B. เช่น การสร้าง Graphical Terminal Plan เป็นต้น

1.2 รายการ 70 Promis Programming Language (PPL) (USD 1,000.-)

PPL เป็น In-house programming language ของ บริษัท B. ถือเป็น Software ตัวหนึ่งซึ่ง

พัฒนาขึ้นเพื่อการทำ Customization program ตามความต้องการจำเพาะบางอย่างที่ไม่รวมอยู่ใน

Software มาตรฐาน

1.3 รายการ 80 Installation and Training Charges (USD 1,145.-)

ทาง บริษัท A.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตั้งและฝึกอบรมให้แก่พนักงานบริษัท B. ในขณะนี้บริษัท A.

ยังไม่มีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย

1.4 รายการ 90 Customization Charges (USD 7,100.-) เป็นการปรับใน

ตัว Software พื้นฐาน โดยทำสำเร็จจากประเทศอินเดีย มีการปรับแก้ภายหลังเพียงเล็กน้อย

1.5 รายการ 100 Software Update and Hotline Support Contract

(SUHLSC) = AMC (USD 4,950.-) เป็นการรองรับการ Update โปรแกรมที่อาจมีในโอกาสต่อไป

AMC ไม่ได้เป็น Software

2. บริษัท B. ผู้ซื้อได้โอนเงินชำระค่าซอฟต์แวร์ให้แก่ บริษัท A. พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 40(3) ประกอบกับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่ง

ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และขอให้กรมสรรพากรออกหนังสือรับรองการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายฉบับภาษา

อังกฤษ เพื่อเป็นหลักฐานส่งให้แก่ บริษัท A.ซึ่งสำนักงานสรรพากรภาค 5 ได้ออกหนังสือรับรองฯ ฉบับ

ภาษาอังกฤษให้แก่ บริษัท B. แล้ว

3. บริษัท A. โต้แย้งว่าค่าซอฟต์แวร์ที่ตนได้รับจากบริษัทผู้ซื้อไม่สามารถถือเป็นค่าสิทธิได้ทั้ง

จำนวน และไม่อยู่ในบังคับตามข้อ 12 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐ

อินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจาก

เงินได้ (อนุสัญญาฯ) จึงขอหารือเกี่ยวกับปัญหาการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามอนุสัญญาฯ กรณีการได้

รับชำระค่าซอฟต์แวร์จากบริษัทผู้ซื้อในประเทศไทยดังต่อไปนี้

3.1 กรณีที่ บริษัท B. ผู้ซื้อได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่า

Software ที่ชำระให้แก่ บริษัท A.นั้น ได้กระทำตามข้อบทใดแห่งอนุสัญญาฯ

3.2 กรณีหาก บริษัท A.ไม่มีภาระทางภาษีหรือไม่มีภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระให้แก่รัฐบาล

อินเดีย สำหรับปี 2544-2545 แล้ว ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ชำระไว้เกินจะมีการแก้ไข หรือ บริษัท

A. จะขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ดังกล่าวได้อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 70

แนววินิจฉัย

1. ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ที่จัดเป็น

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นงาน

วรรณกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังนั้น ค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรม

"PROMIS" Software ซึ่งรวมถึงค่าติดตั้งและค่าฝึกอบรมวิธีการใช้โปรแกรม ค่าปรับแต่งโปรแกรมตาม

ความต้องการของลูกค้า การทำ Update โปรแกรม และค่าปรึกษาแนะนำสายด่วนทางโทรสารหรือ

โทรศัพท์ จึงเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ซึ่งถือเป็นค่าสิทธิ

(Royalties) ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ เมื่อ บริษัท B. จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ บริษัท A.

ซึ่งไม่มีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย อันจะถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของตนแล้ว

บริษัท B. จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง

ประมวลรัษฎากร และข้อ 12 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งหาก บริษัท B. ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว

ไว้ถูกต้องแล้ว บริษัท A. ก็ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีจากประเทศไทย แต่อย่างใด

2. กรณีตาม 3.2 เมื่อรัฐบาลไทยมีสิทธิเรียกเก็บภาษีโดยชอบตามข้อ 12 วรรค 2 แห่ง

อนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และ บริษัท B. ได้หักภาษีเงินได้จาก

ค่าตอบแทนดังกล่าว และนำส่งโดยถูกต้องแล้ว แม้ว่าบริษัท A. จะไม่มีภาระภาษีหรือไม่มีภาษีเงินได้ที่

ต้องชำระให้แก่รัฐบาลอินเดีย สำหรับปี 2544-2545 ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีดังกล่าวจาก

ประเทศไทยแต่อย่างใด ส่วนภาษีที่ บริษัท A. ถูก บริษัท B. หักไว้ในประเทศไทย จะถือเป็นเครดิตต่อ

ภาษีอินเดียของ บริษัท A. ในประเทศอินเดียหรือไม่ อย่างไร มิใช่ประเด็นที่กรมสรรพากรแห่งรัฐบาล

ไทยจะต้องพิจารณา




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/3718 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2545

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)