จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการแปลงดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นเงินกู้ใหม่
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการแปลงดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นเงินกู้ใหม่ข้อเท็จจริงบริษัท ว. ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศ จำนวน US$ 2,120,000 มี กำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดในสัญญา ซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน US$ 190,800 แต่เมื่อถึงกำหนดชำระ บริษัทฯ ยังไม่ต้องการจ่ายดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ตกลงกับสถาบันการเงินในต่างประเทศผู้ให้กู้ ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่โดยรวม ดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวพร้อมเงินต้นมาเป็นต้นเงินกู้ของสัญญาฉบับใหม่รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น US$ 2,310,800 บริษัทฯ จึงหารือว่า การที่บริษัทฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่โดยการแปลงดอกเบี้ย เงินกู้ที่จะต้องชำระเป็นต้นเงินกู้ใหม่ ถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4)(ก) และมาตรา 70แนววินิจฉัยบริษัทฯ มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศ จำนวน US$ 2,120,000 โดยมี การคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมจำนวน US$ 190,800 ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเมื่อครบกำหนดชำระ ดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทฯ ได้ตกลงกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่ โดยการแปลงดอกเบี้ย เงินกู้ที่จะต้องชำระเป็นต้นเงินกู้ใหม่คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน US$ 2,310,800 (US$ 2,120,000 US$ 190,800) ดังนั้น การที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นใหม่โดยการแปลงดอกเบี้ยเป็นต้นเงินกู้ตาม กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่า เจ้าหนี้เงินกู้ในต่างประเทศได้รับชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน US$ 190,800 แล้ว บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11589 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 |