จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีนำส่งจากเงินปันผลที่จ่ายให้แก่นิติบุคคลในต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีนำส่งจากเงินปันผลที่จ่ายให้แก่นิติบุคคลในต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัท ม จำกัด ขอให้รับรองการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผล ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งตั้งอยู่ใน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเงิน 29.8 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 กันยายน 2542 และทำการจ่ายในวันที่ 29 กันยายน 2542 แต่บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในวันที่ 15 กันยายน 2542 ณ วันที่ประกาศจ่ายเงินปันผล โดยที่ สรรพากรพื้นที่ เห็นว่าการ นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินปันผลดังกล่าวก่อนวันที่จ่ายเงินปันผลตามความเป็นจริง เป็นผลดีต่อ ทางราชการ ไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และสรรพากรภาค ได้พิจารณา แล้วเห็นว่า การจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยบริษัทฯ ผู้จ่ายจะต้องหักภาษี จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทฯ มีการจ่ายเงินปันผลให้ บริษัทต่างประเทศไปจริง ในวันที่ 29 กันยายน 2542 แต่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษี ดังกล่าวในวันที่ 15 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผล และเพียงการประกาศ จ่ายเงินปันผลยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินออกไปให้แก่บริษัทต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินได้ฯ ไม่มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงถือว่าบริษัทฯ ยังมิได้นำส่งภาษี หัก ณ ที่จ่าย จากเงินปันผลภายในกำหนดทำให้ต้องรับผิดชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มเพิ่มเติม แต่การที่บริษัท ฯ หักภาษีและนำส่งตามแบบฯล่วงหน้าดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ประกอบกับ การจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าวเป็นการที่บริษัทต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไทย ไม่อาจบังคับจัดเก็บภาษีอากรในต่างประเทศได้ จึงได้มีบทบัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องหัก ภาษีจากเงินที่จ่าย แล้วนำส่งรัฐบาลโดยบริษัทต่างประเทศนั้นไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เมื่อบริษัทผู้จ่ายได้หักภาษีจากเงินปันผลและนำส่งภาษีไว้ครบถ้วนอันเป็นผลดีแก่ทางราชการ เห็นควร อนุมัติให้การยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ง.ด.54) ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เป็นการยื่น แบบฯ ที่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีดังกล่าวกรมสรรพากร ยังไม่มีแนวทางให้ถือปฏิบัติแต่อย่างใด สรรพากรภาค จึงขอทราบความเห็นของกรมสรรพากรเพื่อจะได้ ถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 70แนววินิจฉัย1. เงินปันผลเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ บริษัทไทยประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย การหักภาษีนำส่งจากเงินปันผลที่จ่าย ให้หักเมื่อมีการส่งเงินปันผลออกไปยังต่างประเทศ 2. กรณีตามข้อหารือ เป็นกรณีบริษัทผู้ถือหุ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากประเทศไทย บริษัทผู้ถือหุ้นจึง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโดยให้บริษัท ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 10 และนำส่งพร้อมกับการยื่นแบบฯ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้นั้น ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อเท็จจริงตามข้อหารือ บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผลในวันที่ 15 กันยายน 2542 แต่ได้มีการจ่ายจริงในวันที่ 29 กันยายน 2542 และบริษัทฯ ประสงค์จะนำส่งเงิน ภาษีดังกล่าวในวันที่ 15 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเดือนเดียวกัน (กันยายน 2542) และตาม กฎหมายบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2542 ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้หักและนำส่ง ภาษีในวันที่ 15 กันยายน 2542 ซึ่งไม่เกินกำหนดเวลาดังกล่าว จึงชอบที่จะกระทำได้ ไม่ต้องห้ามตาม กฎหมายแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/12836 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2542 |