Skip to Content

จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อตอบแทนการให้บริการทางวิศวกรรม

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อตอบแทนการให้บริการทางวิศวกรรม


ข้อเท็จจริง

บริษัท U ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ประกอบกิจการออกแบบโรงงานเคมี โรงกลั่น และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 U ได้ทำสัญญารับจ้างบริษัท T สำหรับการก่อสร้างโรงงานโดยมีข้อเท็จจริง

สรุปได้ดังนี้

1. T ประสงค์จะสร้าง โรงงานน้ำมันปาล์มที่สกัดค่อนข้างบริสุทธิ์ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง จึงได้ทำสัญญาบริการวิศวกรรมพื้นฐาน (สัญญาวิศวกรรมฯ ) ว่าจ้าง U ให้จัดหาบริการทางวิศวกรรมสำหรับการสร้างโรงงาน และจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายของสัญญาวิศวกรรมฯ ให้แก่ T แต่เนื่องจากโครงการการสร้างโรงงานดังกล่าวแบ่งแยกเป็นหลายขั้นตอน ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงให้ สัญญาวิศวกรรมฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด โดยขั้นตอนที่ 1 เป็นการให้บริการวิศวกรรมพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างโรงงานตามขอบเขตของการให้บริการตามสัญญาวิศวกรรมฯ

2. ขอบเขตของการให้บริการ (Scope of Services) ที่ U รับดำเนินการให้กับ T ตามสัญญาวิศวกรรมฯ มีรายละเอียดสรุป ดังต่อไปนี้

-การบริการงานวิศวกรรมกระบวนการซึ่งเป็นขั้นตอนรายละเอียดการออกแบบทั่วไปซึ่งครอบคลุมตามความต้องการด้านวิศวกรรมพื้นฐานของโรงงาน

- งานออกแบบอุปกรณ์ประเภทต่าง ที่ใช้ในโรงงานซึ่งครอบคลุมตามความต้องการพื้นฐานของโรงงาน

- งานออกแบบสำหรับโครงร่างของโรงงาน

- งานวิศวกรรมระบบท่อ

- งานวิศวกรรมไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมความต้องการพื้นฐานเกี่ยวกับวิศวกรรมและการติดตั้ง

- วิศวกรรมโยธาและโครงสร้าง

3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้โครงการทั้งหมด เนื่องจาก สัญญาวิศวกรรมฯ กำหนดว่า T ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ได้รับ (โดยบังเอิญ) ในระหว่างที่ดำเนินโครงการให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก U และ T จะไม่ใช้ข้อมูล ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเอง นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต ดังนั้น ทั้ง T และ U จึงได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (สัญญาอนุญาตฯ) แยกต่างหากจากสัญญาวิศวกรรมฯ ซึ่งสัญญาอนุญาตฯ นี้ ได้แยกข้อกำหนด เงื่อนไข และการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการยินยอมให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยินยอมให้วิทยาทานแก่คู่สัญญาอีกฝ่าย สามารถใช้วิทยาทานนั้น เพื่อประโยชน์ของตนเอง และเป็นความรู้และประสบการณ์พิเศษซึ่งจะต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

บริษัทฯ เข้าใจว่า การชำระเงินโดย T เพื่อเป็นค่าตอบแทนการบริการวิศวกรรมตามสัญญาวิศวกรรมฯ ไม่ถือเป็นค่าตอบแทนสำหรับการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นกำไรของธุรกิจตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น T จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากความรู้และทักษะที่ U ใช้ในการให้บริการวิศวกรรมในประเทศเยอรมนี ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้แก่ T แต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

การให้บริการของ U ตามสัญญาวิศวกรรมฯ เป็นการให้บริการอันเนื่องมาจากมีการถ่ายทอด และโอนความรู้ทางงานวิศวกรรมด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นสูตรลับ กรรมวิธีหรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นค่าตอบแทนจากการให้ใช้สิทธิ ดังนั้น เมื่อ T จ่ายเงินให้กับ U จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7617 ลงวันที่ 01 สิงหาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)