Skip to Content

จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าบริการไปต่างประเทศ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าบริการไปต่างประเทศ


ข้อเท็จจริง

บริษัท ม. ใช้บริการทางด้านธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ซึ่งเรียกว่า GCMS Banking System กับธนาคาร ต. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ในการจัดการดูแลบัญชีประเภทต่างๆ ที่บริษัทฯ มีกับธนาคารฯ ทุกสาขาทั่วโลก เพื่อสามารถตรวจสอบยอดคงเหลือและความเคลื่อนไหว (Bank Statement) รวมทั้งข้อมูลต่างๆ โดยผ่านระบบออนไลน์การเชื่อมโยงเครือข่ายของธนาคารฯ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีบัญชีทั้งหมด 11 บัญชีค่าธรรมเนียมบัญชีละ 3,000 เยนต่อเดือน รวมเป็นเงิน 33,000 เยนต่อเดือน เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลของบริษัทฯ จึงได้กำหนด User Name และ Password อนุญาตให้พนักงานสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบออนไลน์ของธนาคารฯ ได้ อีกทั้งสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ตามสิทธิที่ได้รับซึ่งในปัจจุบันมีพนักงานใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด 7 คน โดยคิดค่าบริการคนละ 1,000 เยนต่อเดือนในส่วนของค่าบริการ ธนาคารฯ ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกเก็บไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะสำรองจ่ายแทนไปก่อน จากนั้นสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ จะส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บมายังบริษัทฯ

จึงขอหารือว่า ค่าบริการดังกล่าวที่บริษัทฯ จ่ายไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ที่ประเทศญี่ปุ่นจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่และบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการดังกล่าว เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีการบริการดูแลรักษาระบบออนไลน์ของธนาคารฯ ประเทศญี่ปุ่น ค่าบริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น หากธนาคารฯได้ให้บริการในต่างประเทศและมิได้ให้บริการโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในไทย (Attributable to that permanent establishment) ธนาคารฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากเงินได้ที่ได้รับดังกล่าวตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้สำรองจ่ายแทนไปตามใบแจ้งหนี้ บริษัทฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/8574 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)