จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินไปประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินไปประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนข้อเท็จจริงบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และได้โอนเงินไปยังประเทศออสเตรเลียเป็น ค่าที่ปรึกษาด้านการสำรวจธรณีวิทยา ค่าศึกษากระบวนการแต่งแร่ ค่าวิเคราะห์ศึกษาด้านธรณีเทคนิค ค่า วิเคราะห์และค่าที่ปรึกษาด้านองค์ประกอบทางเคมี และการไหลของน้ำใต้ดิน โดยผู้รับเงินบางรายได้ ส่งตัวแทนเข้ามาเก็บตัวอย่างแร่และน้ำไปวิเคราะห์ที่ต่างประเทศ มีระยะเวลาการทำงานในไทยรวม ไม่เกิน 180 วัน ผู้รับเงินบางรายบริษัทฯ ส่งตัวอย่างไปให้ ผู้รับเงินทุกรายเป็นผู้อยู่ในประเทศ ออสเตรเลียและไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ในขณะที่จ่ายเงินบริษัทฯ ยังมิได้เป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงขอหารือว่า 1. บริษัทฯ ต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแบบ ภ.พ.36 หรือไม่ ถ้าต้องยื่นจะเรียกเก็บจาก ผู้รับเงินหรือต้องออกให้แก่ผู้รับเงิน และบริษัทฯ สามารถนำเงินที่ชำระตามแบบ ภ.พ.36 ไปขอคืนได้ หรือไม่ ต้องปฏิบัติอย่างไรในการขอคืน ถ้าขอคืนไม่ได้จะเป็นธรรมกับบริษัทฯ หรือไม่ 2. บริษัทฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้รับเงินหรือไม่ ถ้าต้องหักใช้อัตราเท่าไร และต้อง ดำเนินการอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร, มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505, ข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับออสเตรเลียแนววินิจฉัย1. เงินได้จากการให้คำปรึกษาด้านการสำรวจธรณีวิทยา ค่าศึกษากระบวนการแต่งแร่ ค่า วิเคราะห์ศึกษาด้านธรณีเทคนิค ค่าวิเคราะห์และค่าที่ปรึกษาด้านองค์ประกอบทางเคมี และการไหลของ น้ำใต้ดิน โดยมิได้มีการถ่ายทอด (Supply) เทคโนโลยีหรือวิทยาการ (Know-How) ที่บริษัทใดบริษัท หนึ่งหวงแหนไว้เป็นความลับ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ และโดยที่การส่งพนักงานเข้ามารวบรวม ตัวอย่างแร่และน้ำในประเทศไทยไปวิเคราะห์ที่ประเทศออสเตรเลียมีระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ยังถือไม่ได้ว่าบริษัทในประเทศออสเตรเลียได้ให้บริการโดยผ่าน สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทออสเตรเลียจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการออกไปให้บริษัทในประเทศออสเตรเลีย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และมาตรา 3 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2. การให้บริการตามข้อเท็จจริงเป็นการให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้น ในราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้อง นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากรด้วยแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7.0 และใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้ถือเป็นใบกำกับภาษี ตาม มาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าบริการตามมาตรา 77/1(18)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากขณะที่จ่ายเงินบริษัทฯ ยังมิได้เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิเครดิตภาษีซื้อดังกล่าวได้ แต่บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อ ดังกล่าวหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/ก.493 ลงวันที่ 07 พฤษภาคม 2545 |