จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการให้คำปรึกษาของบริษัทประเทศญี่ปุ่น
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการให้คำปรึกษาของบริษัทประเทศญี่ปุ่นข้อเท็จจริงปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการให้คำปรึกษาของบริษัทประเทศญี่ปุ่น สรุปข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. บริษัท ก. ประกอบกิจการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรคมนาคม แม่พิมพ์และแบบพิมพ์รวมทั้งชิ้นส่วน ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อขายและส่งออก บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เพื่อให้บริการเป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทฯ ในด้านระบบการจัดการ วิศวกรรม และการผลิต โดยบริษัทที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาบริษัทฯ ใน ขอบเขตดังต่อไปนี้ 1.1 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการจัดการและโครงสร้างองค์กร 1.2 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการวางแผนและการวัดผลการจัดการ 1.3 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการเงิน 1.4 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบควบคุมบุคลากร 1.5 ให้คำแนะนำในการเตรียมการและวางแผนการผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิต 1.6 ตรวจสอบแผนงานการผลิตของบริษัทฯ และให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับแผนตัวกลไก 1.7 ให้คำปรึกษาในการเตรียมระบบควบคุมคุณภาพชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต 1.8 ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาสายการผลิต 1.9 ให้คำแนะนำในการจัดหาชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ซึ่งไม่มีในประเทศไทย 1.10 ให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบการจัดหาวัตถุดิบ 1.11 ให้คำปรึกษาในการจัดการอื่น ๆ รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยเหลือตามที่บริษัทฯ กำหนดเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ การปฏิบัติงานตามข้อ 1.1 – 1.11 บริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ โดยการให้บริการตามสัญญาดังกล่าวกระทำที่สำนักงานของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 2. บริษัทฯ เข้าใจว่า ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่บริษัทที่ปรึกษา ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทค่าสิทธิตามนัยข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยง การรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้บริษัทที่ปรึกษาจึงเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ (Business Profits) เนื่องจากการให้บริการกระทำที่สำนักงานของบริษัทที่ปรึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น จึงไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับ ตามข้อ 7 วรรคแรก แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี ค่าบริการดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 เนื่องจากเป็นกรณีที่บริษัทที่ปรึกษาให้บริการในต่างประเทศ แต่ผลของการให้บริการดังกล่าวนำมาใช้ในประเทศไทย บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการให้บริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ นั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา ข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศกับประเทศญี่ปุ่น มาตรา 70 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. การให้บริการตามข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.11 มีลักษณะเป็นการให้คำปรึกษาสำหรับการจัดการและวิศวกรรม โดยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการผลิตและวิศวกรรมโดยตรง ทั้งนี้ ค่าตอบแทนที่บริษัทที่ปรึกษาได้รับตามสัญญานั้น มิได้มีการแยกส่วนตามประเภทการให้บริการในแต่ละประเภทแต่อย่างใด และบริษัทที่ปรึกษาจะต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายตามสัญญา ได้แก่ การให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ สำหรับการจัดการและวิศวกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินการของบริษัทฯ โดยรวม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินด้านการจัดการ ด้านองค์กร ด้านบุคลากร ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิต และการจัดซื้อวัตถุดิบ ดังนั้น การให้คำปรึกษาดังกล่าวจึงมิใช่การให้ความรู้ทางการจัดการหรือวิศวกรรมที่เป็นการทั่วไป แต่เป็นการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทฯ เป็นการเฉพาะ เช่น การให้คำแนะนำในการจัดหาชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ซึ่งไม่มีในประเทศไทย เป็นต้น เงินค่าตอบแทนที่บริษัทที่ปรึกษาได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้ข้อสนเทศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ตามนัยข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15 ของค่าตอบแทนตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีการจ่ายค่าตอบแทนตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10455 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2548 |