จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินไปต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินไปต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัท อ. ประกอบกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจาก Hanes ที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงว่าจ้าง LAO ซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศลาว และไม่มีสถานประกอบการถาวรในไทย ให้ผลิตสินค้า โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบและวัสดุประกอบการผลิตไปให้ LAO ในใบ Invoice ที่บริษัทฯ จัดส่งวัตถุดิบได้ระบุราคาเป็น Free of Charge และเมื่อ LAO ผลิตสินค้าเสร็จจะส่งสินค้าดังกล่าวให้กับ Hanesที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรงใช้เส้นทางผ่านแดนจากจังหวัดหนองคายเพื่อลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยด่านศุลกากรจังหวัดจะออกใบขนส่งสินค้าผ่านแดนให้และใช้ใบขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นหลักฐานในการส่งออกที่ด่านแหลมฉบัง หลังจาก LAO ได้ส่งออกสินค้าแล้ว บริษัทฯ จะทำตั๋วประกบโดยใช้ใบขนสินค้า ขาออกของ LAO ประกอบการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า ตามเงื่อนไขของลูกค้า เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระเงินค่าสินค้าโดยลูกค้าโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีของบริษัทฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำสั่งซื้อแล้ว บริษัทฯ จึงจะจ่ายค่าผลิตสินค้าให้ LAO บริษัทฯ ขอหารือดังนี้ 1. เงินค่าผลิตสินค้าที่บริษัทฯ ชำระให้แก่ LAO บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 2. สินค้าที่ส่งออกโดย LAO ไปประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านด่านที่จังหวัดหนองคายมายังท่าเรือแหลมฉบัง เข้าลักษณะการส่งสินค้าออกที่บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 77/2 วรรคสาม มาตรา 83/6 และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทฯ ชำระเงินค่าผลิตสินค้าให้แก่ LAO ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ เมื่อ LAO มิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย LAO จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าตอบแทนไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงไม่ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีการขายสินค้าที่ผลิตในประเทศลาวไปให้ลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีหลักฐานใบขนสินค้าออกเป็นของ LAO ยังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11771 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 |