Skip to Content

จ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นสามัญ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีวิธีการคำนวณมูลค่าหุ้นปันผล

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีวิธีการคำนวณมูลค่าหุ้นปันผล


ข้อเท็จจริง

บริษัท A จำกัด (มหาชน) ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีวิธีการคำนวณมูลค่าหุ้นปันผล โดยชี้แจงว่า บริษัทA เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) จะดำเนินการจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นสามัญในอัตรา 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ (ปัจจุบันมูลค่าหุ้น (Par Value) 1 บาท ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของเดือนธันวาคม 2555 เฉลี่ยหุ้นละ 8.25 บาท) ให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯบริษัทA ขอหารือดังนี้

1 ในการจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นสามัญ บริษัทA ต้องทำการคำนวณมูลค่าหุ้นปันผลตามวิธีการตามหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ กต.(ว)51/2544 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2544 บริษัทA มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าหุ้น เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยผู้รับมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ใช่ บริษัทA ต้องดำเนินการอย่างไร ในประเด็นการคำนวณมูลค่าหุ้นและภาษีหัก ณ ที่จ่าย

2 กรณีผู้รับเป็นบริษัท หุ้นที่ได้รับถือเป็นทรัพย์สิน โดยมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าหุ้น ตามข้อ 1 โดยยังมิต้องนำส่วนต่างระหว่างมูลค่าหุ้นดังกล่าวกับราคาตลาด ณ วันที่ได้รับหุ้นไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับ แต่จะเสียภาษีเงินได้ต่อเมื่อบริษัทนั้นได้ทำการขายหุ้น โดยมียอดขายตามราคาที่ขายได้ ต้นทุนตามมูลค่าหุ้นที่คำนวณได้ตามข้อ 1. ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง บริษัทนั้นต้องเสียภาษีเงินได้ เมื่อใด อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(4)(ข) มาตรา 50 (2) (จ) มาตรา 65 ทวิ (10)(ข) และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทA จ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นสามัญ ในอัตรา 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หุ้นปันผลดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับมูลค่าหุ้นปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับจะมีค่าเท่ากับจำนวนเงินกำไรสะสมที่บริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผลตัดออกจากบัญชีเพื่อโอนไปเป็นทุนหารด้วยจำนวนหุ้นปันผลทั้งหมดที่ออกในคราวนั้น

2. กรณีผู้รับเป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถือหุ้นในบริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทA ผู้จ่าย หุ้นปันผล และบริษัทA ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับหุ้นปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม และได้ถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลไว้ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อน สามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ บริษัทผู้รับหุ้นปันผลย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (10)(ข) และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว บริษัทผู้รับหุ้นปันผลต้องนำมูลค่าหุ้นปันผลตามข้อ 1. มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับหุ้นปันผล ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

3. บริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้

3.1 กรณีบริษัทA จ่ายหุ้นปันผลให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทA มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของมูลค่าหุ้นปันผลตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร

3.2 กรณีบริษัทA จ่ายหุ้นปันผลให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทA มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 แต่ไม่รวมถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทจำกัด ซึ่งถือหุ้นในบริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผล และบริษัทA ผู้จ่ายหุ้นปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับหุ้นปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือ โดยทางอ้อม ตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/9238 ลงวันที่ 09 ตุลาคม 2558

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)