จำหน่ายหนี้สูญ ภาษีเงินได้นิติบุคคล การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ข้อเท็จจริง1. บริษัท ย. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2530 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุนจดทะเบียน 59,000,000 บาท แบ่ง เป็นจำนวนหุ้น 5,900,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท โดยมี บริษัท ช. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใน ประเทศญี่ปุ่นเข้าถือหุ้นร้อยละ 90 จำนวน 5,310,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าหุ้น 53,100,000 บาท 2. บริษัท ช. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นลูกหนี้ บริษัท ย. รวมทั้งสิ้น 55,840,129.43 บาท ได้ ยื่นคำร้องขอให้ล้มละลายต่อศาลท้องถิ่นเมืองนาโงย่าในคดีล้มละลายและศาลได้สั่งให้ล้มละลายตาม คำร้อง ทั้งนี้ บริษัท ย. ได้ยื่นรายการบัญชีเจ้าหนี้ในภาวะล้มละลายแล้ว (อันเป็นกรณีเทียบเคียงได้กับ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483) แต่ถูกคัดค้าน และถูกตัดออกจากส่วนแบ่ง กรณีดังกล่าว บริษัท ย. จึงได้ตัดบัญชีลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้สูญจำนวน 55,840,129.30 บาท และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 - 31 ธันวาคม 2542 ทั้งจำนวน 3. ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการถือหุ้นของ บริษัท ช. แต่อย่างใด ทั้งนี้ จังหวัดฯ ได้รับทราบจากผู้รับมอบอำนาจของ บริษัท ย. โดยไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานว่าอยู่ในระหว่าง การประกาศขายทอดตลาดหุ้นของ บริษัท ช. ณ ประเทศญี่ปุ่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯแนววินิจฉัยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในกรณีที่หนี้มีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของลูกหนี้ในประเทศหรือต่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กำหนดในข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ดังนี้ (1) ได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่าง ชัดแจ้งและไม่ได้รับชำระหนี้ โดยปรากฏว่า (ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญไป และไม่มี ทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ (ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของ ลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ (2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่น ฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้น ๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะ ชำระหนี้ได้ หรือ (3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วย กับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ ครั้งแรกแล้ว ดังนั้น การที่บริษัท ย. จะจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ของตนสำหรับกรณีดังกล่าวได้ หรือไม่ พิจารณาได้ดังนี้ 1. เมื่อบริษัท ช. ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลประเทศญี่ปุ่นให้ตนเองล้มละลายซึ่งศาลได้มีคำสั่ง ให้ล้มละลายตามคำร้องดังกล่าว กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 4(2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ที่จะทำการจำหน่ายหนี้สูญต้องฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งด้วยตนเอง หรือ เจ้าหนี้ดังกล่าวได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้นั้นถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และเนื่องจากใน ปัจจุบันยังไม่มีกรณีที่ศาลไทยได้ยอมรับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศให้มีผลใช้บังคับใน ราชอาณาจักรไทย เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งในกรณี ของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายหรือข้อตกลงในเรื่องการยอมรับผลการล้มละลาย ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในต่างประเทศแต่อย่างใด ฉะนั้น บริษัท ย. จึงไม่อาจอาศัย คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศดังกล่าวใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการจำหน่ายหนี้รายบริษัท ช. ออกจากบัญชีลูกหนี้ของตนตามข้อ 4(3) ของกฎกระทรวงดังกล่าวได้ 2. เนื่องจากการพิทักษ์ทรัพย์หรือการล้มละลายตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นไม่มีผลเกี่ยวกับ ทรัพย์สินของบริษัท ช. ลูกหนี้ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามมาตรา 177 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ดังนั้น บริษัท ย. สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็น หุ้นซึ่งบริษัท ช. ถืออยู่ในบริษัท ย. ได้ก็แต่โดยการยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลในประเทศไทยตาม มูลหนี้แห่งสัญญากู้ยืม และเมื่อมีการบังคับเอาหุ้นดังกล่าวขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้แก่บริษัท ย. แล้ว บริษัท ย. ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าใดก็อาจจะจำหน่ายหนี้ส่วนที่ยังคงค้างอยู่ได้ หากกรณี เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6536 ลงวันที่ 09 กรกฎาคม 2546 |