จำหน่ายหนี้สูญ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจำหน่ายหนี้สูญ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจำหน่ายหนี้สูญข้อเท็จจริงบริษัทฯ ทำสัญญาเช่าซื้อและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ปรากฏว่าลูกค้าบางรายไม่ชำระ ค่าสินค้า บริษัทฯ จึงหารือเกี่ยวกับทางปฏิบัติในการจำหน่ายหนี้สูญ ตามประมวลรัษฎากร ดังนี้ 1. กรณีบริษัทฯ ให้ลูกค้าเช่าซื้อสินค้าและค้างชำระค่าเช่าซื้อ บริษัทฯ จึงได้บอกเลิกสัญญา ดังกล่าว และยึดทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อกลับคืนมา และฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ตลอด ระยะเวลาที่ผิดสัญญา แต่ลูกค้าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอม ลูกค้านั้นก็ ยังผิดนัดชำระหนี้อีก บริษัทฯ จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ แต่ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะนำมา ชำระหนี้ได้ บริษัทฯ จะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญรายนี้จากบัญชีของลูกหนี้ ได้หรือไม่ 2. กรณีบริษัทฯ ขายรถขุดตักไฮดรอลิคให้แก่ลูกค้าราคา 38,700,000 บาท ลูกค้าชำระ ราคาบางส่วนและยังคงค้างชำระอีกจำนวน 26,000,000 บาท ต่อมาลูกค้าได้เลิกประกอบกิจการ แต่ ยินยอมชำระหนี้ให้แก่บริษัทฯ จำนวน 9,000,000 บาท บริษัทฯ จะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 17,000,000 บาท ได้หรือไม่ หากลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงข้างต้น บริษัทฯ จึงฟ้องลูกค้าดังกล่าว แต่ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดได้ บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 9,000,000 บาท ได้หรือไม่ อย่างไร 3. กรณีบริษัทฯ ยื่นฟ้องลูกหนี้โดยมีมูลหนี้เกิน 500,000 บาท แต่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ ชำระหนี้ไม่ถึง 500,000 บาท บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญตามมูลหนี้ในขณะที่ยื่นฟ้องหรือตามมูลหนี้ ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หากถือตามมูลหนี้ในขณะยื่นฟ้อง บริษัทฯ จะต้องดำเนินการยึดทรัพย์ ของลูกหนี้ก่อน เมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ได้ จึงจะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ใช่หรือไม่ หากถือตามมูลหนี้ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษา บริษัทฯ จึงจะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชี ลูกหนี้ได้ทันที ใช่หรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (9), กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2539)ฯแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้ดำเนินการฟ้องลูกค้าในคดีแพ่ง และได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของ ศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ลูกค้าดังกล่าวมิได้ชำระหนี้และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ ได้ตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญได้จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ดังนี้ 2.1 กรณีที่หนี้มีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไปต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ได้ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยมีหลักฐานการติดตาม ทวงถามอย่างชัดแจ้ง และไม่ได้รับการชำระหนี้ โดยปรากฏว่า (ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญ และ ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ (ข) ลูกหนี้เลิกกิจการและมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ (2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่ง หรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูก เจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งและในกรณีนั้น ๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน ใด ๆ จะชำระหนี้ได้หรือ (3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลาย หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมี คำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่ง ทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว 2.2 ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามฟ้อง หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ บริษัทฯ ต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ได้ บริษัทฯ จึง จะมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และถือเป็นรายจ่ายได้ 3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จะต้องถือตามมูลหนี้ในขณะที่ยื่นฟ้องต่อศาลเป็นเกณฑ์ใน การจำหน่ายหนี้สูญ หากมูลหนี้ดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขข้อใดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขข้อนั้น ๆ ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม.05)/808 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2545 |