จำหน่ายหนี้สูญ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญข้อเท็จจริง1. ห้างฯ ประกอบกิจการขายปลีก ขายส่ง เหล็กรูปพรรณ และได้ขายสินค้าให้กับบริษัท ส. ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2539 เป็นจำนวนเงิน 34,192,725.30 บาท แต่บริษัท ส. ยังไม่ชำระค่าสินค้า ต่อมาบริษัท ส. ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับห้างฯ เป็นค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,065,534.81 บาท 2. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2541 ห้างฯ ได้ยื่นฟ้องบริษัท ส. ต่อศาล ให้บริษัท ส. ชำระค่าสินค้า และใช้สิทธิเรียกร้อง ของบริษัท ส. อันมีต่อบริษัท อ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัท ส. แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล บริษัท อ. ได้ยื่นคำร้อง ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ศาลจึงได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะบริษัท อ. ชั่วคราว และในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัท ส. ชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 34,192,725.30 บาท นับแต่วันฟ้อง 3. ต่อมา บริษัท ด. (ผู้ทำแผน) ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. และศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูดังกล่าว โดยตั้ง บริษัท ที่ปรึกษาธุรกิจ อ. เป็นผู้บริหารแผน 4. ห้างฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ โดยใช้สิทธิเรียกร้องของ บริษัท ส. อันมีต่อ บริษัท อ. 5. บริษัท ด. (ผู้ทำแผน) ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของห้างฯ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานฯ ได้มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ ห้างฯ จึงได้ยื่นคำคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานฯ ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ห้างฯ ได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้ พร้อมดอกเบี้ย 6. ห้างฯ และบริษัท อ. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลล้มละลายกลางต่อศาลฎีกา และ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน 7. ห้างฯ ได้บันทึกบัญชีเฉพาะต้นเงินจำนวน 34,192,725.30 บาท โดยนำคำสั่งของศาลล้มละลายกลางเป็นเกณฑ์ในการปรับปรุงหนี้ห้างฯ จึงขอทราบว่า ห้างฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกฎกระทรวง ฉบับที่ 186ฯแนววินิจฉัยห้างฯ ได้ฟ้อง บริษัท ส. (ลูกหนี้) เป็นคดีแพ่งต่อศาล และศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงินแก่ห้างฯ ตามมูลหนี้ จำนวนเงิน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง โดยคดีได้ถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่มีการบังคับคดี ประกอบกับการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. นั้น บริษัท อ. เป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ มิได้เป็นลูกหนี้ของห้างฯ โดยตรง กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ดังนั้น ห้างฯ จึงไม่มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญรายดังกล่าวออกจากบัญชีได้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/138 ลงวันที่ 09 มกราคม 2551 |