Skip to Content

จำหน่ายหนี้สูญ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้


ข้อเท็จจริง

บริษัท ท. ขอหารือปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186(พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ดังนี้

1. กรณีเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าหนี้มีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) รายงานการติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้ของทนายความที่เป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือ

(2) สำเนารายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่แสดงว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้องของรายงานนั้นด้วย หากเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 4 (2) และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534

2. กรณีเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้นๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า

(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการตรวจสอบและสามารถรวบรวมทรัพย์สิน ของลูกหนี้ได้ และมีทรัพย์สินที่เหลือภายหลังจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดการแบ่งทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าหนี้ครั้งแรก หรือ

(2) กรณีลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งปิดคดีในคดีล้มละลายดังกล่าว โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งหากไม่มีเจ้าหนี้ผู้ใดคัดค้านและ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดีแล้ว ตาม ข้อ 77 ของระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี พ.ศ.2520 กรณีดังกล่าว หากเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ครบถ้วนแล้ว ในรอบระยะเวลาบัญชีใด เจ้าหนี้มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้และถือเป็นรายจ่าย ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534

3. กรณีหากเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ครบถ้วน ในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว เจ้าหนี้ต้องจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่าย.ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 เจ้าหนี้จะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นไม่ได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/7565 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2557

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)