จำหน่ายหนี้สูญ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Cellular 900 และ Digital GSM ในการเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์จากลูกค้า บริษัทฯ ได้ออกใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษี เพื่อเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นฉบับเดียว ส่งให้แก่ลูกค้าทางไปรษณีย์ เมื่อลูกค้าชำระเงิน บริษัทฯ ก็จะออกใบเสร็จรับเงินส่งให้ต่อไป บริษัทฯ ได้นำภาษีขายตามใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีที่ได้ ออกไปในแต่ละเดือนมายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีโดยไม่คำนึงว่าลูกค้าจะได้ ชำระค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ 1. ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 หากบริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับหนี้ทั้ง จำนวนตามใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีที่ลูกค้าค้างชำระข้างต้น โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไข ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ครบถ้วน แล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูญของค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว สำหรับลูกหนี้ทั้งที่ เป็นและไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเมื่อยื่น แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2541 ได้หรือไม่ 2. สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 เป็นต้นไป บริษัทฯ มีสิทธินำจำนวนค่าบริการและ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายหนี้สูญ สำหรับหนี้ของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ, มาตรา 82/11, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ,แนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ มีสิทธินำจำนวนหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่เป็นค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นรายจ่ายได้ใน รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จำหน่ายหนี้สูญนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร 2. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป หากบริษัทฯ มีหนี้สูญเกิดขึ้นจากการให้บริการ และการจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าวได้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขในการคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่ง ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของ หนี้สูญมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/11 แห่ง ประมวลรัษฎากร ส่วนมูลค่าของการให้บริการที่เป็นหนี้สูญที่เหลืออยู่นั้น บริษัทฯ มีสิทธิที่จะจำหน่ายหนี้สูญ จากบัญชีลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 อนึ่ง หากบริษัทฯ ไม่ได้จำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบ กับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญ รวมทั้งมูลค่าของการให้บริการที่เป็นหนี้สูญดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายจำนวนหนี้สูญดังกล่าวจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/05394 ลงวันที่ 08 มิถุนายน 2542 |