ค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักรายจ่ายเหมาตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักรายจ่ายเหมาตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502ข้อเท็จจริงนาย ก. ได้ประกอบกิจการรับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ ประกอบกับภาพถ่ายจริง โดยใช้คอมพิวเตอร์เขียนรูปภาพการ์ตูนและบันทึกภาพแต่ละภาพโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนนำไปตัดต่อร่วมกับภาพจริง เพื่อประกอบกันเป็นภาพยนตร์การ์ตูนโฆษณาสามมิติ นอกจากนั้นยังประกอบกิจการรับถ่ายรูป ตัดต่อ บันทึกเสียง และบันทึกเทปเพื่อทำการออกอากาศทางโทรทัศน์อีกด้วย อนึ่ง ในการประกอบกิจการดังกล่าว ได้ใช้บ้านอยู่อาศัยเปิดเป็นสำนักงาน และได้จ้างช่วงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรายการโฆษณาจำนวนหลายราย นาย ก. หารือว่า เงินได้ในกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธิหักรายจ่ายเป็นการเหมาตามมาตรา 8(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(8) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีนาย ก. ประกอบกิจการรับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณา รวมทั้งถ่ายรูป ตัดต่อ บันทึกเสียง บันทึกเทป เพื่อออกรายการทางโทรทัศน์ โดยมีการเปิดสำนักงานและมีการจ้างช่วงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรายการจำนวนหลายราย ดังนั้น เงินได้ที่ได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนาย ก. มีสิทธิหักรายจ่ายเหมาได้ในอัตราร้อยละ 70 ของเงินได้ตามมาตรา 8(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 และหากนาย ก.มีรายได้จากการประกอบกิจการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี นาย ก.มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5691 ลงวันที่ 08 มิถุนายน 2550 |