ค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรข้อเท็จจริงนาง ว. ได้รับเงินจากการให้เช่ารถขุดตักและรถแบ็คโฮ ซึ่งเป็นการนำทรัพย์สินของตนออกให้ผู้อื่นเช่าเพื่อนำไปขุดตักดิน เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในการคำนวณหักค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากมาตรา 5 (1) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช่จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 กำหนดว่า กรณีการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 และตามมาตรา 5 (1) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว กรณีการให้เช่าทรัพย์สินอย่างอื่น ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 10 จึงมีประเด็นปัญหาว่า นาง ว. จะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าวในอัตราร้อยละเท่าใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(5)(ก) มาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 5(1)(ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2505แนววินิจฉัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ยานพาหนะ" หมายถึง ยานต่างๆ มีรถและเรือ เป็นต้น และคำว่า "รถ" หมายถึง ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป กรณีตามข้อเท็จจริง รถขุดตักและรถแบ๊คโฮมีลักษณะเป็นยานที่มีล้อสำหรับขับเคลื่อนไป จึงเป็นยานพาหนะตามความหมายของพจนานุกรมฯ เมื่อนาง ว. นำรถขุดตักและรถแบ๊คโฮออกให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ว. มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 5 (1) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 เว้นแต่นาง ว. จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/4480 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 |