ค่าสิทธิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายค่าสิทธิไปต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายค่าสิทธิไปต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทเป็นนิติบุคคลไทย ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการจำหน่ายซอฟต์แวร์ดังกล่าวในประเทศไทย บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์จากลูกค้าเป็นรายปี โดยบริษัทฯ จะได้รับค่าตอบแทนการเป็นตัวแทนจำหน่ายตามสัดส่วนร้อยละจากค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้า โดยหักเอาไว้ แล้วจึงส่งค่าสิทธิส่วนที่เหลือกลับไปให้บริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 70 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ มีสัญญารับเป็นตัวแทนเพื่อจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ให้กับเจ้าของซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ-โทรทัศน์อยู่เป็นปกติธุระ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยี่ห้อต่าง ๆ หลายประเภท เข้าลักษณะเป็นตัวแทนที่มีสถานะภาพอิสระ (Agent of Independent status) จึงยังถือไม่ได้ว่าบริษัทฯ เป็นตัวแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยของบริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ หักค่าตอบแทนการเป็นตัวแทนดังกล่าวไว้จากค่าสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้า และส่งเงินค่าสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ส่วนที่เหลือกลับไปให้กับบริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ เข้าลักษณะเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายจากประเทศไทย ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จ่ายต้องหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวซึ่งต้องคำนวณจากค่าสิทธิการใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั้งจำนวนก่อนหักเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนการเป็นตัวแทน ทั้งนี้ ตามข้อ 12 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/7153 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 |