คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการปรับโครงสร้างกิจการ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการปรับโครงสร้างกิจการข้อเท็จจริงบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท A ประสงค์จะดำเนินการโอนพนักงานขายสินค้ากาแฟกระป๋องทั้งหมดไปเป็นลูกจ้างของบริษัท A เมื่อบริษัท A รับโอน พนักงานขายทั้งหมดจากบริษัท B จะต้องมีการแก้สัญญาให้บริษัท A ชำระค่าเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท C แทนบริษัท B นอกจากนี้ บริษัท A จะเช่าทรัพย์สินจากการประกอบธุรกิจของ B เช่น อาคารของศูนย์กระจายสินค้า รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ที่ใช้บันทึกยอดขาย มาใช้ในการดำเนินงานต่อไป บริษัท A จึงขอทราบว่า การปรับโครงสร้างบริษัทดังกล่าวจะมีภาระภาษีอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องโอนกิจการบางส่วน มาตรา 40(5) และมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยตามข้อเท็จจริงข้างต้นอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีบริษัท A จะดำเนินการปรับโครงสร้างบริษัทโดยรับโอนเฉพาะพนักงานขายสินค้ากาแฟกระป๋องของบริษัท B มาเป็นพนักงานประจำของบริษัท A เพื่อทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือเป็นการโอนพนักงานของบริษัท B บางส่วนไปเป็นลูกจ้างของบริษัท A ไม่เข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการบางส่วน เมื่อบริษัท B ไม่ได้รับเงินหรือค่าตอบแทนจากบริษัท A บริษัท B จึงไม่มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. กรณีบริษัท A จ่ายค่าเช่าทรัพย์สินให้แก่บริษัท B เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สินเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายให้กับบริษัท B และนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และบริษัท A มีสิทธินำรายจ่ายค่าเช่าทรัพย์สินไปถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายนั้นได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร 3. ตามข้อที่ 2.1 ของสัญญา Trademark License Agreement เป็นการให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า ระหว่างบริษัท C กับบริษัท B ตามสัญญาบริษัท B ไม่มีสิทธิในการโอนการใช้เครื่องหมายการค้า ให้กับบริษัท A ดังนั้น เมื่อบริษัท A ได้เข้าทำสัญญาใหม่ระหว่างบริษัท C โดยบริษัท A ได้ชำระค่าเครื่องหมายการค้า ให้กับบริษัท C เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัท A มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับเงินค่าสิทธิที่เป็นต้นทุนในกรณีนี้ได้ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/683 ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 |