Skip to Content

ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน


ข้อเท็จจริง

บริษัท ม. จำกัด ประกอบกิจการเป็นผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ต้องการจะโอนกิจการทั้งหมดไปยังบริษัทในเครือที่มีการดำเนินการในธุรกิจที่คล้ายกัน บริษัทฯ จึงหารือดังนี้

1. ผู้โอน ผู้รับโอน และผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ผู้โอน (โอนกิจการทั้งหมด) ได้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีอย่างไรบ้าง กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ถือหุ้นหลังคืนทุน

2. การโอนกิจการทั้งหมดไม่ถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ และหากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ราคาทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวถือเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

3. ผู้รับโอน ผู้โอนต้องตีราคาทรัพย์สินและหนี้สินอย่างไร ณ วันที่โอนกิจการทั้งหมด หากบริษัทฯ ผู้รับโอนถือหุ้นในบริษัทฯ ผู้โอนถึงร้อยละ 99 บริษัทฯ ผู้โอนจะโอนทรัพย์สินและหนี้สิน ในราคามูลค่าตามบัญชี (BOOK VALUE) ให้บริษัทฯ ผู้รับโอนได้หรือไม่อย่างไร

4. ในวันจดทะเบียนเลิก และชำระบัญชีของบริษัทฯ ผู้โอนกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิกตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ทรัพย์สินและหนี้สินได้โอนไปทั้งหมดแล้ว จะเหลือเพียงทุน เงินสด กำไรสะสมและขาดทุนสะสมเท่านั้น การตีราคาตลาดดังกล่าวหมายถึงการตีราคาในส่วนใด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ดังนี้

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตาม (50) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบกิจการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

1.4 ภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 5 โสฬส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในฃประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

1.5 อากรแสตมป์ ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

2. กรณีตาม 2. การโอนกิจการทั้งหมดถือเป็นการขาย เว้นแต่ ภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 1.3 ไม่ถือเป็นการขายสำหรับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ข้างต้น เป็นเพียงการแจ้งมูลค่าหุ้นตามทะเบียนหุ้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการตีราคาทรัพย์สิน จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุผลสมควรหรือไม่ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

3. กรณีตาม 3. และ 4. การตีราคาทรัพย์สิน กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิก และมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่โอนกิจการหรือวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือว่า ราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทผู้โอน และให้บริษัทผู้รับโอนถือราคาของทรัพย์สินนั้น ตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทผู้โอนในวันที่โอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้กล่าวถึงการตีราคาทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะ




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2497 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)