ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการข้อเท็จจริงธนาคาร ข จำกัด ได้รับความเห็นชอบโครงการโอนสินทรัพย์และหนี้สินตามแผนฟื้นฟูระบบ สถาบันการเงินที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ซึ่งธนาคารได้รับโอน สินทรัพย์และหนี้สิน จากธนาคาร ก จำกัด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 แล้วนั้น เนื่องจากสินทรัพย์ที่ธนาคารฯ รับโอนมานั้น ธนาคารฯ ได้โอนมาพร้อมกับเงินสำรองที่กัน ไว้เป็นค่าลดสินทรัพย์ด้วย ตัวอย่างเช่น สำรองหนี้สูญปลายปี 2541 ของธนาคารฯ 115,000 ล้านบาท ประกอบด้วย - สำรองหนี้สูญต้นปี 2541 ของธนาคารฯ 35,000 ล้านบาท - สำรองหนี้สูญที่รับโอนมาจากธนาคาร ก จำกัด 42,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 - สำรองหนี้สูญที่ธนาคารฯ ตั้งเพิ่มขึ้นในปี 2541 จำนวน 38,000 ล้านบาท รวมสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น (115,000 - 35,000) 80,000 ล้านบาท ธนาคารฯ ขอทราบหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้ 1. เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 42,000 ล้านบาท ที่ ธนาคารฯ รับโอนมาจากธนาคาร ก จำกัด ถ้าธนาคารฯ จะนำมาเป็นรายจ่ายในปี 2541 ถูกต้อง หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) กำหนดเงินสำรองที่กันไว้เผื่อหนี้สูญ สามารถนำมาเป็น รายจ่ายได้เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจำนวน 80,000 ล้านบาท จากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏใน งบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน 2. หลักทรัพย์ที่ธนาคารฯ รับโอนมาจากธนาคาร ก จำกัด ธนาคารฯ รับโอนด้วย ราคาตลาด จึงทำให้เกิดผลขาดทุนขึ้น เนื่องจากราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุน ผลขาดทุนในส่วนนี้ธนาคารฯ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายได้เมื่อใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี, มาตรา 74แนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. ธนาคารฯ ผู้รับโอนกิจการให้ถือราคาของทรัพย์สินที่รับโอนตามราคาที่ ปรากฏในบัญชีของธนาคาร ก จำกัด ผู้โอน ในวันที่ที่มีการโอนกิจการ และห้ามมิให้นำผลขาดทุนสุทธิของ ผู้โอนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ธนาคารฯ จึงไม่มีสิทธินำเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญที่ธนาคารฯ รับโอนมาจากผู้โอนมาถือ เป็นรายจ่ายได้ เนื่องจากผู้โอนได้นำเงินสำรองหนี้สูญจำนวน 42,000 ล้านบาท ไปคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ โดยถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว สำหรับธนาคารฯ คงมีสิทธินำเงินสำรองหนี้สูญที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากหนี้สินเชื่อของธนาคารฯ ในปี 2541 จำนวน 38,000 ล้านบาท มาถือเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 2. หลักทรัพย์ที่ธนาคารฯ รับโอนมาด้วยราคาตลาด ซึ่งต่ำกว่าราคาทุน ผล ขาดทุนที่เกิดขึ้นจะนำมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/03725 ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 |