Skip to Content

ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการทั้งหมด

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการทั้งหมด


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และการให้บริการ มีทุนจดทะเบียน จำนวน 700 ล้านบาท ได้รับชำระเต็มมูลค่าหุ้น โดยมีบริษัท ส. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99 บริษัทฯ จะโอนกิจการของบริษัทฯ ให้แก่บริษัทแม่และจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อโอนธุรกิจทั้งหมดให้แก่บริษัทแม่และมีการชำระบัญชีภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน หลังจากการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทแม่และผู้ถือหุ้นอื่นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับคืนในส่วนที่เป็นเงินลงทุนและส่วนที่เกินเงินทุนซึ่งเป็นผลกำไรจากส่วนแบ่ง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. บริษัทฯ ผู้โอนจะตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาด ณ วันโอนกิจการและใช้ราคาเดียวกันเป็นราคาทรัพย์สิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการ ได้หรือไม่

2. ในการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน เมื่อบริษัทฯ ทำการโอนธุรกิจทั้งหมดให้แก่ บริษัทแม่และจดทะเบียนเลิกบริษัทเพื่อชำระบัญชีภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน บริษัทฯ ในฐานะผู้โอนต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการปกติก่อนมีการโอนกิจการโดยบริษัทฯ ไม่ต้องนำกำไรหรือขาดทุนจากการโอนกิจการมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตร 74 แห่งประมวลรัษฎากร และการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่

3. เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นภายหลังจากบริษัทฯ จดทะเบียนเลิกบริษัท และเสร็จสิ้นการชำระบัญชี เงินที่จ่ายถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ที่ได้รับเงินได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2(50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช่หรือไม่

4. หากบริษัทฯ และบริษัทแม่ ได้แจ้งการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันต่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นแบบ ค.อ.1 ถึง ค.อ.4 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง บริษัทฯ จะต้องรอให้กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งกรมที่ดินให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ก่อนที่บริษัทฯ จะได้ทำการโอนที่ดิน ณ กรมที่ดิน แล้วบริษัทฯ จึงไปจดทะเบียนเลิกต่อกระทรวงพาณิชย์ภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่มีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง บริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 74(1)(ข)(ค) มาตรา 77/1(8)(ฉ) และมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ โอนกิจการของบริษัทฯ ให้แก่บริษัทแม่ และจดทะเบียนเลิกและ มีการชำระบัญชีภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ทรัพย์สินที่บริษัทฯ โอนให้กับบริษัทแม่ จะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิกบริษัท หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่า ราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นบริษัทฯ (ผู้โอน) ไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. หากบริษัทแม่ผู้รับโอนกิจการ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเมื่อโอนกิจการไปแล้ว บริษัทฯ ผู้โอนจะยุบเลิกไป การโอนกิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้กับบริษัทแม่ ซึ่งไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร การโอนกิจการของบริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องคืนเงินในส่วนที่เป็นเงินลงทุนและส่วนเกินเงินทุน ซึ่งเป็นผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นได้แก่ บริษัทแม่และ บุคคลธรรมดา ดังนี้

3.1 กรณีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดา ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนกิจการ ทั้งหมดระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทแม่ (ผู้รับโอน) หากการโอนกิจการทั้งหมดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผลประโยชน์ที่จ่ายดังกล่าวซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

3.2 กรณีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากการโอนกิจการทั้งหมด เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ผลประโยชน์ที่จ่ายดังกล่าวซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ ได้โอนกิจการทั้งหมดและแจ้งการโอนกิจการตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว หากบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามประกาศ อธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 โดยบริษัทฯ ไม่ต้องรอให้กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งกรมที่ดินแต่อย่างใด และการโอนกิจการให้แก่กัน บริษัทผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/5766 ลงวันที่ 11 กันยายน 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)