ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ควบเข้ากัน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ควบเข้ากันข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2548 บริษัท ป. ได้ควบกับบริษัท ท. โดยการยื่นขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กระทรวงพาณิชย์ ตามบทบัญญัติแห่งชาติพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งบริษัทที่เกิดจากการควบกัน คือ บริษัทฯ จึงขอหารือปัญหากฎหมายภาษีอากรเกี่ยวกับการได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ควบเข้ากันตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ดังนี้ 1. บริษัทฯ ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ลงเหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิทั้งหมดเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีหลังจากที่บริษัทฯ มีหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 โดยเหตุที่เป็นบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ และภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 หรือ 2. บริษัทฯ ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ลงตามส่วนที่บริษัท ป. และบริษัท ท. มีอยู่เดิมก่อนการควบบริษัท โดยผลของมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หากบริษัทฯ สามารถทำการแยกบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายของกิจการของ บริษัท ป. และ บริษัท ท. เดิมได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544แนววินิจฉัย1. บริษัทฯ เป็นบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากันระหว่างบริษัท ป.กับบริษัท ท. มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทตามข้อ 7 ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกิดจากการควบบริษัทเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ที่ได้ควบเข้ากันระหว่างบริษัท ป. กับบริษัท ท. เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ใช้บังคับ (วันที่ 6 กันยายน 2544) จึงไม่ได้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 2. บริษัทที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 จะต้องไม่เป็นบริษัทที่ควบเข้ากันกับบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขในมาตรา 5(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เป็นบริษัทที่ควบเข้ากันกับบริษัท ป. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 บริษัทฯ ที่ได้ควบเข้ากันระหว่างบริษัท ป. กับบริษัท ท.จึงไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค0706/2691 ลงวันที่ 10 เมษายน 2549 |