ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทจดทะเบียนข้อเท็จจริงบริษัท ก. ได้ดำเนินการยื่นแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ต่อประชาชน และยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญของบริษัทฯ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีหนังสือตอบรับเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 โดยบริษัทฯ คาดว่าหุ้นสามัญของบริษัทฯ จะสามารถเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นี้ ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ข. ได้ขายหุ้นสามัญประมาณร้อยละ 39.88 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ ข. ให้แก่บริษัท ค. เป็นผลทำให้ไทยเทลโคต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ข. ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ค. และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ จึงหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขการได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังต่อไปนี้ ว่าถูกต้องหรือไม่ 1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของ ข. และบริษัทฯ อันเป็นผลมาจากการซื้อขายหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นและการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง มิได้เป็นการดำเนินการตามหมวด 12 การควบบริษัทแห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งทั้ง ข. และบริษัทฯ ต่างยังคงดำรงสถานะเป็นบริษัทมหาชนเช่นเดิม ดังนั้น ข. และบริษัทฯ จึงมิได้มีการควบเข้ากัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของ ข. และบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ยังคงประกอบธุรกิจของตนโดยมิได้มีการรับโอนกิจการใด ๆ มาจาก ข. ดังนั้น ข. และบริษัทฯ จึงมิได้กระทำการที่เป็นการต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 2. เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น หากหุ้นสามัญของบริษัทฯ เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 31 ธันวาคม 2549 บริษัทฯ จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิคงเหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 73 มาตรา 74 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 389)แนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของ ข. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ดังกล่าวมิใช่เป็นการควบกิจการหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน ระหว่างบริษัทฯ กับ ข. เนื่องจากทั้งบริษัทฯ และ ข. ยังคงสถานะเป็นบริษัทมหาชนอยู่เช่นเดิม มิได้เลิกกัน อีกทั้งบริษัทฯ มิได้มีการรับโอนกิจการใด ๆ มาจาก ข. บริษัทฯ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 73 และมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 5(1) และ (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 แต่อย่างใด้ 2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอนำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตอบรับการยื่นคำขอแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 ถือเป็นการนำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แล้ว บริษัทฯ จึงมีสิทธิได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่บริษัทฯ มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 และมาตรา 5(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3391 ลงวันที่ 26 เมษายน 2549 |