Skip to Content

ควบรวมกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นรัษฎากรจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นรัษฎากรจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน


ข้อเท็จจริง

1. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 บริษัทผู้รับโอนได้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัทผู้โอน โดยบริษัทผู้รับโอนได้แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น ตามทะเบียนหุ้นทั้งของบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอน โดยได้แจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากร สำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งรายการกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร (แบบ ค.อ.1-ค.อ.4) แล้ว ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่าง การชำระบัญชี โดยบริษัทผู้รับโอนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้โอนในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

2. ต่อมา กรมสรรพากรได้ออกพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2555 โดยบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 5 สัตตรส ให้ยกเว้นตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการ ทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมด

การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด"

3. บริษัทผู้รับโอนจึงหารือว่า กรณีบริษัทผู้โอนโอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้รับโอน ซึ่งบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการโอนกิจการทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยยื่นแบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นและแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด (แบบค.อ.1-ค.อ.4) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555 มีผลใช้บังคับ และขณะนี้บริษัทผู้โอน อยู่ระหว่างการชำระบัญชี ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ดังนั้น บริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนจึงได้รับยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541 ความเข้าใจของบริษัทผู้รับโอนถูกต้องหรือไม่ อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 542) และมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 341)

แนววินิจฉัย

เนื่องจากบริษัทผู้โอนได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ บริษัทบริษัทผู้รับโอน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นการโอนกิจการทั้งหมดก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555 มีผลใช้บังคับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2555 เป็นต้นไป ดังนั้น หากการโอนกิจการทั้งหมดตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 และบริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/1131 ลงวันที่ 06 กุมภาพันธ์ 2556

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)