Skip to Content

คณะบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการมีเงินได้และการเสียภาษีอากรของคณะบุคคล

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการมีเงินได้และการเสียภาษีอากรของคณะบุคคล


ข้อเท็จจริง

สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำการตรวจสภาพกิจการของคณะบุคคล พบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน และมีผู้จัดการคณะบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน คณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคล เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด (ผู้ว่าจ้าง) ฝ่ายหนึ่ง และคณะบุคคลฯ ทั้งหกคณะ โดยนาย จ. (ผู้จัดการ) (ผู้รับจ้าง) อีกฝ่ายหนึ่ง โดยรับจ้างทำงานก่อสร้าง (ทั้งวัสดุและค่าแรง) เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย ในโครงการอาคารพาณิชย์ เป็นค่าจ้างจำนวน 9,500,000 บาท โดยถือราคาเหมารวม และกำหนดจ่ายเงินค่าจ้างตามผลการทำงานแล้วเสร็จและได้ตรวจรับแล้วเป็นงวดจำนวน 10 งวด นอกจากนี้คู่สัญญาได้กำหนดรายละเอียดเบิกเงินงวด งานตามคณะบุคคล ซึ่งไม่สอดคล้องกับงวดงานที่ทำเสร็จ เนื่องจากพบกรณีการแบ่งจ่ายเงินค่าจ้างของงวดงานที่ทำแล้วเสร็จ โดยมิให้คณะบุคคลใดมีเงินได้เกินมูลค่าฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม คือไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เพื่อให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 56 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

การจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนหกคณะ โดยมีนาย จ. เป็นผู้จัดการคณะบุคคลทั้งหกคณะเพื่อเข้าทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัท ก. จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นครึ่ง จำนวน 10 หน่วย มูลค่างานเป็นเงิน 9,500,000 บาท โดยทำสัญญาฉบับเดียวกันและมีผู้ว่าจ้างรายเดียวกันเป็นกรณีที่คณะบุคคลทั้งหกคณะมีเจตนาร่วมกันในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เข้าลักษณะบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำกิจการร่วมกัน คณะบุคคลทั้งหกคณะ ดังกล่าวจึงมีลักษณะประกอบกิจการร่วมกันเป็นคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล แม้ว่าในรายละเอียดการเบิกเงินตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะมีการระบุรายละเอียดงานและจำนวนเงินงวดตามคณะบุคคล แต่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นสัญญาที่ตกลงจ้างคณะบุคคลทั้งหกคณะ มิได้กำหนดว่าจ้างเป็นรายคณะบุคคลและการดำเนินการก่อสร้างก็ไม่อาจแบ่งแยกเนื้องานได้อย่างชัดเจนประกอบกับข้อสัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุการจ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดของงานที่ทำเสร็จให้แก่ผู้รับจ้างคิดเป็นมูลค่ารวมมิได้แบ่งแยกแต่อย่างใด

ดังนั้น คณะบุคคลทั้งหกคณะดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลเพียงคณะเดียวหรือในนามห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวเป็นการให้บริการที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10581 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)