Skip to Content

ขายสินค้า/จ้างทำของ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมการซื้อขายแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปพลาสติก

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมการซื้อขายแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปพลาสติก


ข้อเท็จจริง

บริษัท อ. ประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายชิ้นส่วนพลาสติกเป็นปกติธุระ บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อแม่พิมพ์ สำหรับขึ้นรูปพลาสติกจากบริษัท ส. จำกัด เป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบริษัท ส. จะกำหนด รูปแบบแม่พิมพ์ (Spec) เพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกตามแบบที่กำหนด แต่เนื่องจากบริษัทฯ มิได้เป็น ผู้ผลิตแม่พิมพ์ จึงทำใบสั่งซื้อแม่พิมพ์ดังกล่าว จากบริษัท ต. ซึ่งเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ภายนอกอีกทอดหนึ่ง เมื่อ บริษัท ต. ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์แม่พิมพ์ไปยัง บริษัท ส. แล้ว บริษัท ต. จะจัดทำใบส่งของ/ใบกำกับภาษีมาให้ บริษัทฯ (ในฐานะบริษัทฯ เป็นผู้ซื้อจากผู้ผลิต) และบริษัทฯ ก็จัดทำใบส่งของ/ใบกำกับภาษีส่งไปยังบริษัท ส. อีกทอดหนึ่ง โดยบริษัทฯ จะคิดราคาสินค้า (แม่พิมพ์) เพิ่มขึ้นจากราคาที่ซื้อมา เช่น ซื้อมา 100 บาท แต่ขาย ออกไป 120 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งมอบจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อลูกค้าได้ตรวจรับแม่พิมพ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ เห็นว่า การสั่งซื้อแม่พิมพ์จากบริษัท ต. เพื่อจะขายและส่งมอบให้แก่บริษัท ส. ตามชนิดประเภท และลักษณะที่ บริษัท ส. กำหนด ถือเป็นการขายสินค้าตามปกติธุระ โดยมุ่งการโอนกรรมสิทธิ์ของสินค้าเป็นสำคัญ บริษัทฯ จึงไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากบริษัท ส. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเห็นของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

แนววินิจฉัย

บริษัท ส. ได้ว่าจ้างบริษัทฯ ให้ผลิตแม่พิมพ์สำหรับขึ้นรูปพลาสติกตามรูปแบบที่บริษัท ส. กำหนดโดย มุ่งหวังผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัท ส. จ่ายเงินค่าจ้างทำของให้บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/561 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)