Skip to Content

ขอคืนภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


ข้อเท็จจริง

สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า นาย ส. และนาง พ. (สามีภริยา) ได้ถูกประเมินภาษี

สำหรับปีภาษี 2536 เป็นจำนวนเงิน 19,553,470 บาทตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่

ต.6/1074/1/00282 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 กรณีมิได้นำเงินได้ที่ได้รับจากการผิดสัญญา

จะซื้อจะขายที่ดินของบริษัท ค. มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ผู้ค้างได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน

ของเจ้าพนักงานและได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2536 เป็นจำนวนเงิน

5,857,461 บาท ในนามของคณะบุคคลนาง พ. นาง น. และพวกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 ต่อมา

คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัย ให้เสียภาษีในนามของนาย ส.และนาง พ. ผู้ค้างได้ยื่น

คำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 โดยอ้างว่า ตนมีหน้าที่เสียภาษีในนามของ

คณะบุคคล นาง พ. นาง น. และพวก มิใช่ในฐานะส่วนตัว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัย และได้มี

คำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 พิพากษาว่า การประเมินของกรมสรรพากรชอบแล้ว


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 18 ตรี, มาตรา 27 ตรี (1)

แนววินิจฉัย

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของคณะบุคคลนาง พ. นาง น.

และพวก เข้าลักษณะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการโดยที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ทั้งนี้เพราะ เมื่อนาย ส.

และนาง พ. ได้ถูกประเมินภาษีแล้ว หากนาย ส. และนาง พ. ต้องการเสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าวก็

จะต้องชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ไปยื่น

แบบแสดงรายการสำหรับเงินได้ดังกล่าวเพื่อชำระภาษีซ้ำกับที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้เสียภาษี

ดังนั้น เมื่อการยื่นแบบแสดงรายการของคณะบุคคลดังกล่าว เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเมื่อพ้นเวลาที่

กฎหมายกำหนดผู้มีสิทธิขอคืนจึงต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ทั้งนี้ ตามมาตรา

27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากคำพิพากษาฎีกาเป็นคดีระหว่างนาย ส. และนาง พ.

โจทก์กับกรมสรรพากร จำเลย ซึ่งมีมูลเหตุมาจากการที่กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีนาย ส. และนาง

พ. มิใช่เป็นคดีระหว่างคณะบุคคล นาง พ. นาง น. และพวกกับกรมสรรพากรแต่อย่างใด ดังนั้น

คณะบุคคล นาง พ. นาง น. และพวกจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่มี

คำพิพากษาถึงที่สุดตามมาตรา 27 ตรี(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ประการใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/3342 ลงวันที่ 25 เมษายน 2545

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)