ขอคืนภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนเงินภาษี
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนเงินภาษีข้อเท็จจริง1. มีเงินได้จากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เนื่องจากการผิดสัญญา จะซื้อจะขาย อสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2536 โดยมิได้นำเงินได้ดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการเจ้าพนักงานประเมินจึง ประเมินให้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้นำเงินได้ ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของคณะบุคคลพร้อมกับได้ชำระ ภาษี ต่อมาได้ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งในชั้นพิจารณาของศาลได้ขอให้นำเงินจำนวนที่ชำระในนามคณะบุคคลมา หักกลบกับภาษีที่ต้องเสียตามที่เจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดให้เสียภาษีตามการ ประเมินของเจ้าพนักงานและไม่ให้นำเงินภาษีที่เสียในนามคณะบุคคลมาหักกลบลบหนี้กัน แต่เนื่องจากได้นำเงินได้จำนวนเดียวกันนั้นไปยื่นแบบแสดงรายการเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของคณะบุคคลด้วย ซึ่งเห็นว่ามีสิทธิที่จะขอคืนเงินได้พร้อมดอกเบี้ย โดย ถือว่าเป็นกรณีลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่อยู่ในบังคับต้องขอคืนภาษีตามที่ กำหนดไว้ในมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร 2. ระหว่างปี พ.ศ. 2536 ได้แบ่งเงินที่ได้รับจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวให้ แก่บุตร ซึ่งบุตรทุกคนยื่นแบบแสดงรายการภาษีและได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้แล้ว เห็นว่าบุตร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีไว้ระหว่างวันที่ 1, 2, 8 และ 20 สิงหาคม 2544 ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30) เนื่องจากได้ยื่นคำร้องขอคืนเกินกว่า 3 ปี นับแต่ยื่นรายการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27 ตรีแนววินิจฉัยการขอคืนภาษีอากรกรณีได้ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ขอคืนภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นกรณีเสียภาษีไว้เป็นจำนวนเงิน เกินกว่าที่ควรต้องเสีย หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ ยื่นรายการภาษี การขอคืนภาษีจึงต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว ซึ่งเป็น กฎหมายที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นกรณีการชำระหนี้ทั่วไปที่จะใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องว่าด้วยลาภมิควรได้ การขอคืนภาษีอากรจึงต้องขอคืนภายใน สามปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น 1. กรณีคณะบุคคลได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2544 และสำนักงาน สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 ได้อนุมัติคืนเงินภาษีตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) ลงวันที่ 10 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร การที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่สั่งให้ดอกเบี้ยด้วย จึงเป็นการถูกต้องตามที่กำหนดไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร 2. กรณีของบุตรได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเกินกว่า 3 ปี นับแต่ยื่นรายการ จึงเป็นการยื่นคำร้อง ขอคืนเกินกว่าระยะเวลาที่จะขอคืนภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/519 ลงวันที่ 17 มกราคม 2546 |