Skip to Content

ขอคืนภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษี

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษี


ข้อเท็จจริง

นาง จ. ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีมรดก ระหว่าง นาง จ. โจทก์ กับ นาย ป. ที่ 1 กับพวก จำเลย ซึ่งศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนแบ่งที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ต่อมานาง จ. ได้รับโอนที่ดินที่แบ่งแยกแล้วตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ซึ่งเป็นการโอนตามคำสั่งศาลในคดีดังกล่าว และนาง จ. อ้างว่า ได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดิน เป็นจำนวนเงิน 34,935.00 บาท และได้โต้แย้งว่าการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้โอนทรัพย์มรดก นาง จ. จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้ชำระไว้จำนวน 34,935.00 บาท โดยอ้างว่า ตนมีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรได้ภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันชำระภาษีอากร จึงขอทราบว่า นาง จ. เป็นผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวหรือไม่ และหากนาง จ. มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวได้ นาง จ. จะต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในกำหนดระยะเวลาใด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 27 ตรี และมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีนาง จ. ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีมรดกต่อศาลจังหวัดขอให้จำเลยแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ให้แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาศาลได้พิพากษาให้จำเลย แบ่งที่พิพาทให้โจทก์ ดังนั้น การที่นาง จ. ได้รับโอนที่ดินในส่วนที่เป็นมรดกตามคำพิพากษาดังกล่าว จึงเป็นการโอนที่ดินอันเป็นมรดก ตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การโอนที่ดินในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการโอนโดยทางมรดก ให้แก่ทายาท ซึ่งสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิใช่กรณีที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี ตามคำพิพากษา นาง จ. มีสิทธิได้รับที่ดินมรดก จำนวนเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา แต่ที่ดินที่นาง จ. รับโอนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ที่ได้แบ่งแยกใหม่ มีจำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา ดังนั้น การโอนที่ดินเนื้อที่ส่วนที่เกินจากเนื้อที่อันเป็นมรดกตามคำพิพากษา จึงเข้าลักษณะเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หากการโอนที่ดินดังกล่าวมีค่าตอบแทน ผู้จ่ายเงินได้ (ผู้รับโอน) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากการโอนที่ดินดังกล่าวไม่มีค่าตอบแทน ถือว่าผู้โอนเป็นผู้จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จำนวนเงินได้พึงประเมินที่คำนวณได้จากเนื้อที่ส่วนที่เกินจากเนื้อที่อันเป็นมรดกตามคำพิพากษา ไม่ว่าการโอนที่ดินส่วนที่เกินจากเนื้อที่อันเป็นมรดกตามคำพิพากษาจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ผู้มีหน้าที่หักภาษีจะต้องหักภาษีและนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ดังกล่าวผู้โอนหรือผู้รับโอนได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา เป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 34,935.00 บาท จึงเป็นกรณีที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย และแม้ว่าใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินจะระบุว่า ได้รับเงินจากนาย ป. (ผู้โอน) และนาง จ. (ผู้รับโอน) ก็ตาม หากข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่า นาง จ. เป็นผู้ออกเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้แล้ว นาง จ. จึงเป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระภาษีหรือนำส่งภาษีเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย นาง จ. ย่อมมีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรจำนวนนั้นได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706(กม.04)/1403 ลงวันที่ 04 ธันวาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)