ขอคืนภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักและนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักและนำส่งภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรข้อเท็จจริงบริษัท A จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัทฯ ทำสัญญากู้เงินกับ Export-Import Bank of The United States (US Ex-Im Bank) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของ รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น และรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น เจ้าของทุนทั้งหมด บริษัทฯ ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินดังกล่าว โดยบริษัทฯ ได้ออกเงิน ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแบบ ภ.ง.ด.54 แทน US Ex-Im Bank มาโดยตลอด ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2538 เป็นต้นมา ต่อมาบริษัทฯ ได้ทราบว่าตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) มาตรา 5 สัตต (1) ได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ เงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ ให้แก่สถาบันการเงินของรัฐบาล ต่างประเทศที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้น และรัฐบาลต่างประเทศเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด บริษัทฯ จึง หารือว่า 1. กรณีดังกล่าวถือว่าบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งใช่หรือไม่ 2. บริษัทฯ มีสิทธิจะขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวคืนจากกรมสรรพากรได้หรือไม่ ถ้าได้ บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติเช่นไรบ้าง สรรพากรภาค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) มาตรา 5 สัตต บัญญัติว่า ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ เงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศให้แก่ (1) สถาบันการเงินของรัฐบาล ต่างประเทศที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้นและรัฐบาลต่างประเทศเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้เงินจาก US Ex-Im Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาล ประเทศสหรัฐอเมริกา เงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ที่บริษัทฯ จ่ายให้กับ US Ex-Im Bank จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวบริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ออกเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรแล้ว ตามแบบ ภ.ง.ด.54 แทน US Ex-Im Bank ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 เป็นต้นมา บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนเงิน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทฯ ได้หักและนำส่งไว้แล้วได้โดยยื่นแบบ ค.10 ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามนัยมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27 ตรี, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500แนววินิจฉัย1. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า US Ex-Im Bank เป็นสถาบันการเงินของรัฐบาล ต่างประเทศที่มีกฎหมายโดยเฉพาะจัดตั้งขึ้นและรัฐบาลต่างประเทศเป็นเจ้าของทุนทั้งหมด US Ex-Im Bank จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยของ เงินกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 5 สัตต (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 บริษัท A จำกัด จึงไม่มีหน้าที่ต้อง หักและนำส่งภาษีในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด 2. ในกรณีที่บริษัทฯ ได้หักและนำส่งภาษีไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา กรณีถือได้ว่าบริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการนำส่งภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึง มีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวได้ในนามของบริษัทฯ เอง โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/11197 ลงวันที่ 02 พฤศจิกายน 2542 |