ขอคืนภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปประเทศสิงคโปร์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปประเทศสิงคโปร์ข้อเท็จจริงบริษัท ม. (บริษัทฯ) ได้ตกลงเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ตาม สัญญาเช่าอุปกรณ์ ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการหรือให้เช่าอุปกรณ์ในประเทศไทย ตามข้อตกลงใน สัญญาเช่าระบุให้ผู้เช่าไปรับอุปกรณ์ ณ สถานที่ของผู้ให้เช่า คือทำการส่งมอบ ณ ประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น ค่าอากรขาเข้า และค่าภาษีอากร บริษัทฯ ชำระเงินค่าเช่าโดยการโอนเงินผ่านธนาคารตามใบแจ้งหนี้ และได้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่หักจากเงินค่าเช่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 จนถึงเดือน พฤศจิกายน 2552 บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้และรับผิดชอบภาระภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งจำนวนมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับค่าเช่าอุปกรณ์ดังกล่าวตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ หากไม่มี หน้าที่ต้องหักภาษีบริษัทฯ จะขอคืนได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27 ตรี และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยบริษัทฯ จ่ายเงินค่าเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้กับบริษัท ท. ที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากผู้ให้เช่ามิได้ เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยและไม่มีสถานประกอบการถาวรอยู่ในประเทศไทยบริษัทผู้ให้เช่าในประเทศสิงคโปร์จึงไม่มี หน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 วรรคแรก แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจาก เงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวไว้แล้ว และพิสูจน์เป็นที่เชื่อได้ว่า เป็น ผู้จ่ายภาษีแทนบริษัท ท. ถือได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงจากการนำส่งภาษีโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีได้ในนามของบริษัทฯ เอง โดยให้ยื่นคำร้องขอภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่ กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2746 ลงวันที่ 20 เมษายน 2553 |