Skip to Content

กิจการร่วมค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการร่วมค้า

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการร่วมค้า


ข้อเท็จจริง

บริษัท ช. และบริษัท ก. ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ได้เข้าทำสัญญากับ ค.ในนามกิจการร่วมค้า บ. (กิจการร่วมค้า บ.) เพื่อรับจ้างก่อสร้างโครงการ ให้กับ ค. สัญญาที่ทำไว้กับ ค. ระบุให้บริษัททั้งสองต้องร่วมกันดำเนินงาน ในลักษณะของผู้ร่วมดำเนินกิจการ ทั้งในส่วนของรายละเอียดขอบเขตการก่อสร้าง ระบบการก่อสร้าง ค่าตอบแทน เงินล่วงหน้า การชดใช้เงินล่วงหน้า การจัดหาที่ดิน การแบ่งงวดงานการก่อสร้าง และความรับผิดชอบต่องานตามสัญญา ซึ่งเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม

อย่างไรก็ตามบริษัททั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงในระหว่างกันเองในการร่วมกันทำงานโครงการก่อสร้างตามบันทึกข้อตกลงในการร่วมทำงานในโครงการก่อสร้างบ้าน ซึ่งได้กำหนดให้บริษัททั้งสองแบ่งแยกงานค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน และความรับผิดชอบต่องานตามสัญญา ดังนี้

1. ช. มีหน้าที่ก่อสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภคภายนอกอาคาร ติดตั้งระบบไฟฟ้า และน้ำประปา ส่วน ก. มีหน้าที่จัดหาที่ดิน ถมดิน และประสานงานเกี่ยวกับเรื่องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

2. ช. รับผิดชอบค่าตรวจสอบ ค่าใช้จ่ายในการติดตามผลงานเป็นเวลา 5 ปี ค่าปรับเนื่องจากงานล่าช้า และต้องวางเงินกับธนาคารเพื่อประกันการชำรุดเป็นเวลา 2 ปี ส่วน ก. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงาน

3. ช. ได้รับรายได้โดยตรงจาก ค. ในส่วนของค่าก่อสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค ส่วน ก. ได้รับรายได้โดยตรงจากส่วนของค่าที่ดิน

4. ช. รับผิดชอบค่าเสียหายเนื่องจากการดำเนินงานล่าช้าในส่วนของ ช.ให้แก่ ค. ส่วน ก. รับผิดในความชำรุด บกพร่องจากงานถมดิน

บริษัททั้งสอง จึงขอหารือว่า ค่าตอบแทนที่ได้รับจาก ค. สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว จะต้องเสียภาษีอากรในนามของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือของบริษัททั้งสองแยกต่างหากจากกัน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 39 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

หากการแบ่งแยกงาน ค่าใช้จ่าย ความรับผิดชอบ และค่าตอบแทน เป็นความตกลงที่ทำขึ้นระหว่างบริษัททั้งสองที่เข้าร่วมกิจการร่วมค้าเท่านั้น โดยภายใต้สัญญาการก่อสร้างกับ ค. บริษัททั้งสองอยู่ในฐานะผู้ร่วมดำเนินกิจการที่ไม่มี ทั้งข้อกำหนดในการแบ่งแยกงาน และค่าตอบแทนออกจากกันอย่างชัดแจ้งแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินกิจการร่วมกันของบริษัททั้งสองดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นกิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งถือเป็นกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กิจการร่วมค้า บ. ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการฯ มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากรในนามของกิจการร่วมค้า




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/12382 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)