Skip to Content

การให้บริการ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าบริการฝากทรัพย์

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าบริการฝากทรัพย์


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า และอะไหล่รถยนต์ทั้งขายปลีกและขายส่ง

ให้บริการซ่อมและพ่นสีรถยนต์ รถยนต์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะซื้อจากบริษัท ก. จำกัด ซึ่งเป็น

ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าให้แก่บริษัทฯ แต่ผู้เดียว โดยทั้งสองฝ่ายจะตกลงประมาณการปริมาณการ

ซื้อและการผลิตในแต่ละช่วงเวลาต่อมากลางปี พ.ศ. 2540 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทฯ จำหน่าย

รถยนต์ไม่ได้ตามที่ประมาณการไว้ ทำให้ไม่สามารถรับมอบรถยนต์จากผู้ผลิตได้ จึงตกลงให้ผู้ผลิตเป็น

ผู้รับผิดชอบดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวแทนบริษัทฯจนกว่าบริษัทฯ จะสามารถรับมอบรถยนต์ได้ โดยผู้ผลิตจะ

คิดค่าตอบแทนในการดูแลรักษารถยนต์จากบริษัทฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเรียกค่าตอบแทนนี้ว่า “ค่าเสียหาย”

บริษัทฯ หารือว่า

(1) บริษัทฯ สามารถนำเงินค่าเสียหายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม

ประมวลรัษฎากรได้หรือไม่

(2) ผู้ผลิตซึ่งเรียกเก็บค่าเสียหายดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ

ออกใบกำกับภาษีหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (13), มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2(1)

แนววินิจฉัย

1. ประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ตกลงซื้อขาย

บริษัทฯ กับบริษัท ก. จำกัด ได้ตกลงซื้อขายรถยนต์โดยประมาณการปริมาณการซื้อและ

การผลิตในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ ผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์จำหน่ายให้บริษัทฯ และบริษัทฯ จะต้องซื้อ

รถยนต์จากผู้ผลิตตามจำนวนที่ประมาณการไว้ กรณีดังกล่าวถือว่ามีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นแล้วแต่กรรมสิทธิ์ใน

สินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อตามมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากทรัพย์สินที่ซื้อ

ขายยังมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนจนกว่าจะได้ผลิตแล้วเสร็จ อันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกมาเป็นจำนวน

ที่แน่นอนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจึงจะโอนมายังผู้ซื้อตามมาตรา 460 แห่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าว เมื่อผู้ผลิตผลิต

รถยนต์แล้วเสร็จ

2. ประเด็นค่าตอบแทนในการดูแลรักษารถยนต์

กรณีบริษัทฯ ตกลงให้ผู้ผลิตดูแลรักษารถยนต์ของบริษัทฯ จนกว่าจะรับมอบได้ในอนาคต

ถือว่าบริษัทฯ (ผู้ฝาก) ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ผลิต (ผู้รับฝาก) และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษา

ทรัพย์สินไว้ในอารักขาของตนแล้วจะคืนให้ อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 แห่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น

(1) กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่ผู้ผลิตเป็นค่าตอบแทนในการรับดูแลรักษารถยนต์ ถือ

เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ

กำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) กรณีผู้ผลิตรับดูแลรักษารถยนต์ให้บริษัทฯ เป็นการให้บริการรับฝากทรัพย์ตาม

มาตรา 657 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10)

แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ผลิตซึ่งรับฝากทรัพย์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่ง

ประมวลรัษฎากร และออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา

86 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม.06)/1122 ลงวันที่ 07 กรกฎาคม 2543

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)