การให้บริการ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยข้อเท็จจริงบริษัท ช. จำกัด ได้ตกลงทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อย ณ สถานที่ตั้งโรงงานใน นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังของบริษัทผู้ว่าจ้าง โดยสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้ 1. บริษัทฯ ตกลงรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยพร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ในระบบต่าง ๆ โดย บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างและติดตั้งดังกล่าว 2. เมื่อบริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยและติดตั้งอุปกรณ์ในระบบต่าง ๆ ให้แล้ว เสร็จตามสัญญาแล้ว บริษัทฯ และบริษัทผู้ว่าจ้างจะร่วมทดสอบและบริษัทผู้ว่าจ้างจะรับมอบงานโดยออก ใบรับรอง (Taking Over Certificate) ให้แก่บริษัทฯ เมื่องานก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ได้แล้ว เสร็จสมบูรณ์และสามารถใช้งานได้ตามที่กำหนดในสัญญา 3. บริษัทฯ จะต้องรับประกันและรับผิดชอบต่องานที่ส่งมอบเป็นระยะเวลา 12 เดือน นับแต่ วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงาน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดในการออกแบบวัสดุหรือการ ดำเนินงานที่ด้อยคุณภาพ 4. กรรมสิทธิ์ในโรงไฟฟ้าย่อยและอุปกรณ์ที่ติดตั้งแล้วเสร็จจะตกเป็นของบริษัทผู้ว่าจ้างเมื่อได้ ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาครบถ้วน กล่าวคือ บริษัทผู้ว่าจ้างจะได้รับโอนสิทธิในงานในวัน หลังจากได้ ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายแล้ว 5. ค่าตอบแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยและติดตั้งอุปกรณ์จะกำหนดเป็นราคาเหมารวมเป็น เงินบาท โดยจะไม่มีการแยกมูลค่าของวัสดุอุปกรณ์ และค่าจ้างก่อสร้าง โดยค่าตอบแทนเหมาดังกล่าวจะ รวมถึงการให้บริการบำรุงรักษาเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบรับรองการรับมอบงาน (Issuance of Taking Over Certificate) 6. ค่าตอบแทนเหมาตามสัญญาดังกล่าว บริษัทผู้ว่าจ้างจะจ่ายให้แก่บริษัทฯ เป็นรายเดือนเป็น เวลา 30 เดือน ในจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยเริ่มชำระงวดแรกหลังจากเมื่อผู้ว่าจ้างได้ออก ใบรับรองการรับมอบงาน (Issuance of Taking Over Certificate) ให้แก่บริษัทฯ เป็นเวลา 1 เดือน บริษัทฯ เข้าใจว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยและติดตั้งอุปกรณ์ตามสัญญาโดยมีสาระสำคัญและ เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากลักษณะของสัญญาดังกล่าวเป็นการรับทำงานเพื่อมุ่งผลสำเร็จ ของงาน ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าตอบแทนที่ได้รับตามสัญญาดังกล่าว โดยสามารถ เรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทผู้ว่าจ้างได้ บริษัทฯ จึงขอหารือว่าสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยดังกล่าวข้างต้นเข้าลักษณะเป็นสัญญา รับจ้างเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อยและติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 เตรส, มาตรา 77/1(10) และมาตรา 79แนววินิจฉัย1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่า ทั้งหมดที่ได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เรียกเก็บภาษี มูลค่าเพิ่มจากบริษัทผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้รับบริการได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เมื่อสัญญาจัดซื้อและติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยระหว่างบริษัทฯ กับผู้ว่าจ้าง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้นในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/5217 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 |