Skip to Content

การให้บริการ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ้างผลิตชิ้นส่วน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ้างผลิตชิ้นส่วน


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. จำกัด (บริษัทฯ) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประเภทผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กโทรนิคส์ ในรูปแบบของ Electronics Manufacturing Services (EMS) เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร บริษัทฯ มีความประสงค์จะขอหารือเกี่ยวกับภาระภาษี กรณีการทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างให้ทำการ ผลิตชิ้นส่วนตามรายละเอียดจำเพาะ (Specifications) โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้

(1) เนื่องจากในการผลิตชิ้นส่วนของบริษัทฯ นั้น วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบสำคัญจะถูกกำหนดโดยลูกค้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าและสิทธิบัตร (Patent) ของลูกค้า ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องจ้าง ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (Supplier) เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนตามรายละเอียดจำเพาะ (Specifications) ซึ่งมีลักษณะเป็น ชิ้นส่วนพลาสติกหรือเหล็กที่ใช้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์เฉพาะอย่าง โดยผู้จำหน่ายวัตถุดิบจะไม่สามารถจำหน่าย ชิ้นส่วนดังกล่าวให้บุคคลภายนอกได้

(2) เพื่อปรับปรุงระบบ Logistic หรือระบบจัดการวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อควบคุมมิให้ ผู้จำหน่ายวัตถุดิบลอกเลียนแบบหรือละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ ในการทำสัญญาจ้างผลิต (Manufacturing Agreement) กับผู้จำหน่ายวัตถุดิบดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีข้อกำหนดให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบต้อง เข้ามาทำการผลิตภายในโรงงานของบริษัทฯ เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ผลิตเสร็จแล้ว เข้าสู่กระบวนการผลิตของบริษัทฯ โดยตรงทันที การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการผลิต การขนส่ง ประหยัดเวลา รวมทั้งสามารถควบคุมมาตรฐานสินค้าและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างสมบูรณ์

(3) ในการกำหนดให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาทำการผลิตในโรงงานของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ มิได้ส่งมอบ การครอบครองพื้นที่ในโรงงานให้กับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ บริษัทฯ เพียงแต่อนุญาตให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้าใช้พื้นที่ ได้ตามสัญญาจ้างผลิต โดยบริษัทฯ จะส่งพนักงานเข้าไปร่วมตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วน และถือเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการผลิต พนักงานของบริษัทฯ จึงเข้าออกในพื้นที่ดังกล่าวตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต จากผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ในกรณีที่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน บริษัทฯ มีสิทธิยกเลิก การว่าจ้างผลิตและให้ออกจากพื้นที่โรงงานทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

บริษัทฯ ขอหารือว่า

(1) กรณีที่บริษัทฯ มีข้อกำหนดในสัญญาให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ เข้ามาทำการผลิตภายในโรงงานของบริษัทฯ เพื่อผลิตชิ้นส่วนให้แก่บริษัทฯ แต่ผู้เดียว โดยบริษัทฯ มิได้ส่งมอบการครอบครองพื้นที่ในโรงงานให้กับผู้จำหน่าย วัตถุดิบ นั้น ถือเป็นการให้บริการแก่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

(2) เนื่องจากโรงงานทั้งหมดที่บริษัทฯ สร้างขึ้นนั้น เป็นการสร้างเพื่อใช้ในกิจการของบริษัทฯ ทั้งหมด และ โดยที่บริษัทฯ มิได้ให้เช่าพื้นที่บางส่วนในโรงงานของบริษัทฯ แก่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจาการก่อสร้างอาคารทั้งหมด มาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของ บริษัทฯ ได้ โดยไม่ต้องห้าม ตามข้อ 2(4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

(1) กรณีที่บริษัทฯ มีข้อกำหนดในสัญญาจ้างผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ให้เข้ามาทำการผลิตภายในโรงงานของบริษัทฯ เพื่อให้กระบวนการผลิตชิ้นส่วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงระบบ Logistic โดยบริษัทฯ มิได้ส่งมอบการครอบครองพื้นที่ นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ หากแต่ ถือเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าที่ไม่ใช่การขายสินค้า ซึ่งถือเป็นบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานเพื่อประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อีเล็คโทรนิคส์ขาย มิได้มีการให้เช่าพื้นที่ใน โรงงานของบริษัทฯ แก่ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งหมด มาถือเป็น ภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/790 ลงวันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)