การเครดิตภาษีเงินปันผล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเครดิตภาษีเงินปันผล
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเครดิตภาษีเงินปันผลข้อเท็จจริงบริษัท ศ. ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ ผู้ถือหุ้นตามอัตราและประเภทเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์พร้อมกับได้ออก หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผล โดยที่เงินได้ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ที่นำไปจ่ายเงินปันผลได้รวมเงินส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าว ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับผู้ถือหุ้นไว้ในอัตราร้อยละ 10 เช่นเดียวกับการจ่ายเงินปันผลที่จ่ายจากกิจการที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นไม่สามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้ ตัวอย่างเช่น หากบริษัทผู้จ่ายได้จ่ายเงินปันผลจำนวน 100 บาท แยกออกเป็นการจ่ายจากกิจการที่เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 30 จำนวน 40 บาท และจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จำนวน 60 บาท บริษัทฯ หารือว่า 1. บริษัทผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 จากเงิน จำนวนใด 1.1 กรณีต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะจากจำนวน 40 บาท ผู้รับเงินปันผลมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลรับจำนวน 40 บาท ไปรวมคำนวณกับ เงินได้ทั้งปีเพื่อยื่น ภ.ง.ด. 90 และสามารถเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้อีก 60 บาท ผู้รับไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ทั้งปี เพื่อยื่น ภ.ง.ด.90 ใช่หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไร 1.2 กรณีต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากจำนวน 100 บาท ผู้รับเงินปันผลมีสิทธิเลือกที่จะนำเงินปันผลไปรวมกับเงินได้ทั้งปีเพื่อยื่น ภ.ง.ด.90 และผู้รับมีสิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จากจำนวน 40 บาท ใช่หรือไม่ 2. กรณีที่บริษัทฯ ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ระบุเงินปันผลจำนวน 100 บาท โดยไม่ได้แยกว่าเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิใน อัตราร้อยละ 30 จำนวน 40 บาทไว้ และเป็นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามรูปแบบที่ ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร ซึ่งผู้รับมีสิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 47 ทวิ, มาตรา 50(2)(จ)แนววินิจฉัย1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายเงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข) แห่ง ประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้มีเงินได้มีสิทธิ เลือกไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีสิ้นปีได้ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร 2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายเงินปันผล ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่ง ประมวลรัษฎากร และเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับ เงินปันผลได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นเงินปันผลที่จ่ายจาก เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้ได้รับเงินปันผลไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีบริษัทฯ ในฐานะนายทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทผู้จ่ายเงินได้จ่ายเงินปันผล จำนวน 100 บาท ซึ่งบริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ทั้งจำนวน โดยให้ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่า เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของ กิจการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 40 บาทเท่านั้นที่ผู้มีเงินได้ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจำนวน 60 บาท ที่จ่ายจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้มีเงินได้ไม่ได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแต่ย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4588 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 |