การหักภาษี ณ ที่จ่ายของรัฐบาล ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินค่าจ้างที่ปรึกษา
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินค่าจ้างที่ปรึกษาข้อเท็จจริงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หารือปัญหาภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สรุปได้ดังนี้ 1. ททท. ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท M จำกัด ทำหน้าที่ที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศเชิงกลยุทธ์รวมเป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 2,400,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ละ 200,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และการจ่ายเงินแต่ละงวด ททท. จะ หักเงินประกันผลงานไว้ร้อยละ 5 (200,000 x 5% ) เป็นเงิน 10,000 บาท จึงหารือว่า 1.1 ททท. ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 1 จากยอดเงินก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จ่ายแต่ละ งวด (186,915.89 x 1% = 1,869.16 บาท ) ถูกต้องหรือไม่ 1.2 บริษัทฯ ต้องออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้ ททท.ด้วยจำนวนเงิน 200,000 บาท (ตามสัญญา) ถูกต้องหรือไม่ 1.3 กรณีถ้ามีค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญาจ้าง 1.3.1 ททท. ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 1.1 หรือจากยอดเงินหลังหักค่าปรับ แล้ว 1.3.2 บริษัทฯ ต้องออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้ ททท. ด้วยจำนวนเงิน ตามข้อ 1.2 หรือจำนวนเงินหลังถูกหักค่าปรับแล้ว 2. การจ่ายค่าตอบแทนการเขียนเรื่อง ททท. ได้จัดทำวารสารเป็นประจำทุกเดือน โดยมีการว่าจ้างนักเขียน ซึ่งมีทั้งนักเขียน สมัครเล่น นักเขียนอาชีพ นักเขียนที่เป็นวิชาการ นักเขียนคอลัมน์ประจำ ข่าว และข้อมูลเบ็ดเตล็ดทั่วไป ทำหน้าที่เขียนเรื่องลงในอนุสาร อสท. โดย ททท. จ่ายค่าตอบแทนจากการเขียนเรื่องเป็นประจำ ทุกเดือน จึงหารือว่า 2.1 ค่าตอบแทนการเขียนเรื่องถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทใด 2.2 ททท. ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 หรือ ร้อยละ 5 3. ค่าเช่าบ้านพักและค่าใช้จ่ายที่ได้ทดรองจ่ายไปก่อน ททท. มีพนักงานและตำรวจท่องเที่ยว (กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวได้รับ งบประมาณ สนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ จาก ททท.) ปฏิบัติหน้าที่ตามสำนักงานต่าง ๆ โดยได้รับค่าเช่าบ้านพัก ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2530 โดย สัญญาเช่ากระทำระหว่างพนักงานหรือตำรวจท่องเที่ยวกับผู้ให้เช่ามิใช่ระหว่าง ททท. กับผู้ให้เช่า จึง หารือว่า 3.1 การจ่ายเงินค่าเช่าบ้านพักให้พนักงานและตำรวจท่องเที่ยว ททท. จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ 3.2 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ พ.ศ. 2530 ข้อ 18 "ทุกสิ้นปีปฏิทินให้หัวหน้าส่วนราชการที่เบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ แจ้ง รายชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของบ้านเช่า ตลอดจนที่ตั้งของบ้านเช่า อัตรา ค่าเช่าบ้านต่อเดือน และจำนวนค่าเช่าบ้านที่พึงได้รับในรอบปีให้แก่ส่วนราชการ ที่มีหน้าที่จัดเก็บ ภาษีเงินได้ (กรมสรรพากร)" ดังนั้น คำว่า "หัวหน้าส่วนราชการที่เบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ" ในส่วนของตำรวจท่องเที่ยวจะหมายถึงกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 3.3 ค่าใช้จ่ายที่พนักงานและตำรวจท่องเที่ยวได้ทดรองจ่ายไปก่อน เช่น ค่าซ่อมรถ ค่า ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกจ่ายจาก ททท. ใน ภายหลัง ดังนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ททท. จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ 4. การจ่ายเงินสนับสนุน ททท. จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับ หน่วยงานภาค เอกชนซึ่งมิใช่หน่วยงานสาธารณกุศลตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษี เงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การสถานสาธารณกุศลฯ ททท. จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ 5. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ททท. จ่ายเงินได้ต่างๆ เช่น ค่าโฆษณา ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ฯลฯ ให้กับ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจซึ่งมิได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากกระทรวงการคลัง เช่น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทย เมื่อ ททท. จ่ายเงินได้ดังกล่าวจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 39, มาตรา 40(1)(2)(3), มาตรา 65 ทวิ (17), มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 86/4, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)แนววินิจฉัย1. กรณี ททท. จ่ายเงินค่าจ้างที่ปรึกษาให้กับบริษัท M จำกัด ททท. มีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากยอดเงินได้พึงประเมินก่อนหักเงินประกันผลงานแต่ไม่รวมภาษีขาย เนื่องจากภาษีขายที่บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับนั้นไม่ถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ ตามมาตรา 65 ทวิ (14) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ จะต้องออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยระบุมูลค่าของบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจากมูลค่าของบริการ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีถ้ามีค่าปรับเนื่องจากบริษัทฯ ผิดสัญญา เมื่อ ททท. จ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ททท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 จากยอดเงินค่าจ้างก่อนหักเงินค่าปรับส่วนกรณี ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยระบุมูลค่าของบริการก่อนหักเงิน ค่าปรับ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของบริการดังกล่าวตามมาตรา 86/4 แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณี ททท. จ่ายเงินค่าตอบแทนการเขียนเรื่องให้กับนักเขียนเพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของ ททท. แยกพิจารณาได้ดังนี้ 2.1 หากเป็นการจ่ายเงินให้นักเขียนที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แม้นักเขียนจะมี ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนทำขึ้น ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เงินได้ดังกล่าวเข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และหาก เป็นกรณีที่จ่ายเงินให้นักเขียนในฐานะเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น นักเขียนสมัครเล่น เป็นต้น ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น เงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ททท. มีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 หากเป็นการจ่ายเงินให้นักเขียนเพื่อเป็นค่าตอบแทนจากการรวบรวมงานที่นักเขียน ทำขึ้น เช่น บทความรวมเล่ม เป็นต้น เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากค่าแห่ง ลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ททท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณี ททท. จ่ายเงินค่าเช่าบ้านพักให้พนักงานและตำรวจท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเช่าบ้าน พักดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (8) ดังนั้น ททท. จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ ททท. จ่ายเงินคืนให้พนักงานและตำรวจท่องเที่ยวที่ได้ทดรองจ่ายเป็น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปก่อน หากเป็นกรณีที่ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่พนักงานฯ นำมาเบิกเงินคืนได้ ระบุชื่อ ททท. เป็นผู้จ่ายเงิน ททท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 แต่หากเป็น กรณีที่ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่พนักงานฯ นำมาเบิกเงินคืนเป็นรายการเบ็ดเตล็ดมีจำนวนเล็กน้อย และไม่ได้ระบุชื่อ ททท. เป็นผู้จ่ายเงิน ททท. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด สำหรับประเด็นปัญหาว่าใครจะต้องเป็นผู้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้ หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเงินได้ทราบนั้น เนื่องจากการแจ้งข้อมูลดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตาม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2530 ซึ่ง กรมบัญชีกลางเป็นผู้รักษาการตามระเบียบฯ ดังนั้น จึงขอให้ ททท. หารือประเด็นปัญหาดังกล่าว ไปยัง กรมบัญชีกลางโดยตรง 4. กรณี ททท. จ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับหน่วยงาน ภาคเอกชนซึ่งมิใช่องค์การสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด หากหน่วยงาน เอกชนดังกล่าวเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ททท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 5. กรณี ททท. จ่ายเงินได้ให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น แยกพิจารณาได้ดังนี้ 5.1 กรณีการจ่ายเงินได้ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ททท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 5.2 กรณีการจ่ายเงินได้ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะ ซึ่ง รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามนัยมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ททท. จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/4393 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 |