การหักภาษี ณ ที่จ่ายของรัฐบาล ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาล
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักภาษีเงินได้จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลข้อเท็จจริงธนาคารแห่งประเทศไทยรับเป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลโดยวิธีประมูลพันธบัตรรัฐบาล ดังกล่าวกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลที่จะ ประมูลนั้นได้กำหนดอายุ และอัตราดอกเบี้ยไว้ในพันธบัตร โดยจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง การประมูลจะ กำหนดให้ผู้ประมูลเสนออัตราผลตอบแทนเป็นร้อยละต่อปี และจำนวนเงินที่ขอประมูล โดยผลตอบแทน ดังกล่าวผู้ประมูลจะได้รับจากกระทรวงการคลัง โดยหักจากจำนวนเงินที่ผู้ประมูลต้องจ่ายเป็นค่าพันธบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงขอทราบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณี ผู้ประมูลจ่ายเงินน้อยกว่าราคาตราในพันธบัตรในวันที่ชำระเงินค่าพันธบัตรหรือไม่ ในอัตราเท่าใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4)(ก), มาตรา 69 ทวิแนววินิจฉัยผลตอบแทนดังกล่าวข้างต้นมีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ยถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตาม มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ธนาคารฯ ในฐานะนายทะเบียนจึงมีหน้าที่ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ 1. กรณีผู้ประมูลได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่ง ประมวลรัษฎากร ธนาคารฯมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากผู้ประมูลได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ธนาคารฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่ประการใด 2. กรณีผู้ประมูลได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ธนาคารฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่ประการใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/6126 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 |