Skip to Content

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานและสิ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินที่เช่า มีอายุตามสัญญาเช่า 15 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาแล้ว หากไม่มีการต่อสัญญาเช่าออกไปอีก หรือสัญญาเช่าได้สิ้นสุดด้วยเหตุใดก็ดี บริษัทฯผู้เช่ายินยอมให้บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างหรือต่อเติมที่ผู้เช่าได้ทำการปลูกสร้างลงบนที่ดินที่เช่าทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันที บริษัทฯ ขอทราบว่า การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่เป็นอาคารหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราร้อยละ 5 และทรัพย์สินอื่นที่เป็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งไม่ใช่อาคารหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราร้อยละ 20 ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นอาคาร ให้คำนวณหักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยบริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เป็นอาคารถาวรได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนและบริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินอื่นซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้น สึกหรอหรือเสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้าได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 (1) และ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145 ) พ. ศ. 2527




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4713 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)