Skip to Content

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคาร

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคาร


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. แจ้งว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าที่ดินพร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. 2532 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินกับบริษัท ข. จำกัด มีกำหนดเวลาเช่า 30 ปี (สัญญาครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2562) และได้จดทะเบียนการเช่ากับสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สัญญาเช่าดังกล่าวกำหนดให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ เป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ เงินกินเปล่าและค่าเช่ารายปี ส่วนที่สอง ได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งผู้เช่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับบริษัทฯ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าหรือเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม เนื่องจากตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 ผู้เช่ามีปัญหาเกี่ยวกับการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และมีปัญหาในระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้เช่าจึงหยุดชำระค่าเช่ารายปีสำหรับปี 2543 ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามตลอดมา จนกระทั่งปี 2544 ผู้เช่าได้ผิดนัดชำระค่าเช่าอีก บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า และใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯ ชนะคดี และให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของผู้เช่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงตามคำพิพากษา กรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จึงตกเป็นของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้ตรวจสอบมูลค่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกับกรมที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการประเมินราคาและแจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า มูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเท่ากับ 264,475,300 บาท คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ ถือจำนวนมูลค่าดังกล่าวเป็นรายได้ค่าเช่าจากการรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากบริษัทฯ จะได้รับรู้มูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้แล้ว บริษัทฯ ยังได้นำค่าชดเชยจากการผิดสัญญาเช่าที่ศาลสั่งให้ผู้เช่าชำระให้บริษัทฯ มารวมคำนวณเป็นรายได้ด้วย และมีผลให้ในรอบระยะเวลาบัญชี 2545 บริษัทฯ ได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนถึง 70,730,597.41 บาท

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. มูลค่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทฯ ได้รับมา เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าตามสัญญาเช่า และบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้ดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว นอกจากนั้น ตามมาตรฐานทางบัญชี ฉบับที่ 32 บริษัทฯ ต้องบันทึกอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ถูกต้องหรือไม่

2. กรณีบริษัทฯ ขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้นำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ถูกต้องหรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 385)

แนววินิจฉัย

เนื่องจากมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทฯ รับโอนมาเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่บริษัทฯ ได้รับตามสัญญา โดยบริษัทฯ ได้นำมูลค่าดังกล่าวมารับรู้รายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งได้บันทึกอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับมาเป็นสินทรัพย์ของบริษัทฯ ดังนั้น หากบริษัทฯ รับโอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 385) พ.ศ. 2544 มีผลใช้บังคับ บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่รับโอนมาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว และในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หากต่อมาบริษัทฯ โอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปให้บุคคลภายนอก บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าของอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค. 0706/6882 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)