การหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของพันธุ์สัตว์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของพันธุ์สัตว์ข้อเท็จจริงบริษัท ก. ประกอบกิจการด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ บริษัทฯ ได้สั่งซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ สุกร ไก่ และเป็ด จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ เพื่อจำหน่ายต่อ หรือนำผลผลิตที่ได้ไปทำ การเลี้ยงต่อ บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เป็นทรัพย์สิน หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตาม มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 1. สุกร บริษัทฯ จะใช้หลักเกณฑ์ของอายุการใช้งานที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการสากล กล่าวคือ พ่อพันธุ์สุกรจะมีอายุการใช้งาน 2 ปี และแม่พันธุ์สุกรจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี ดังนั้น บริษัทฯ จะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสุกร โดยพ่อพันธุ์จะหัก 2 ปี และแม่พันธุ์จะหัก 3 ปี ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ บริษัทฯ ใช้ปฏิบัตินี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสุกรทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ใช้ปฏิบัติ 2. ไก่ และเป็ด บริษัทฯ จะใช้หลักเกณฑ์ของอายุการใช้งานที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทาง วิชาการสากล กล่าวคือ พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไก่ และเป็ด จะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ช่วง ระยะเวลาให้ผลผลิตข้ามรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จะคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามสัดส่วนของ แต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ ใช้ปฏิบัตินี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ และ เป็ด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ใช้ปฏิบัติบริษัทฯ จึงขอทราบว่า การหัก ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของสุกร ไก่ และเป็ด ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ ได้ปฏิบัตินั้น เป็นการปฏิบัติที่ ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527แนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุกร ไก่ และเป็ดจากต่างประเทศมาใช้ในกิจการ ของผู้ประกอบการ พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุกร ไก่ และเป็ด ดังกล่าว ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ เนื่องจาก พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งต้องมีการเจริญเติบโต เมื่อโตเต็มที่ก็จะมีการขยายพันธุ์และ เสื่อมสภาพไป ดังนั้น รายจ่ายค่าซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุกร ไก่ และเป็ด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการ บำรุงรักษา จนกว่าพ่อและแม่พันธุ์จะให้ผลผลิต ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนต้องห้ามมิให้ถือ เป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ใน อัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักตั้งแต่วันที่พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ให้ผลผลิตพร้อมที่จะขายได้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้จากการประกอบกิจการแล้วหรือไม่ก็ตาม สำหรับ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบำรุงรักษาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ตั้งแต่วันที่พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ให้ผลผลิตพร้อมที่จะขาย ได้เป็นต้นไป ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ 2. กรณีบริษัทฯ ได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ตามอายุการใช้งาน โดยพ่อพันธุ์สุกรจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจำนวน 2 ปี แม่พันธุ์สุกรหัก 3 ปี พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไก่ และเป็ด หัก 1 ปี ซึ่งเกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภททรัพย์สิน ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าวของบริษัทฯ มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และอัตราที่ กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3155 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2547 |