Skip to Content

การหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน


ข้อเท็จจริง

บริษัทได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2511 วัตถุประสงค์หลัก คือการประกอบกิจการโรงแรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา บริษัทฯ มีโครงการที่ได้ยกเลิกการดำเนินการอยู่ 2 โครงการ คือ

1. โครงการที่พักอาศัย (Residence) ในกรุงเทพมหานคร บริษัทฯ ได้ดำเนินการถึงขั้นการปรับฐานรากก่อนหยุดดำเนินการทั้งหมด ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2536 - 2538 ประกอบด้วย

(1) ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในช่วงของงานฐานราก และเสาเข็มรวมถึงค่าที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมอื่น ๆ

(2) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 125 ล้านบาท

2. โครงการโรงแรม ณ จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการถึงขั้นการสำรวจพื้นที่ดินเท่านั้น โดยยังไม่มีการปรับฐานราก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2534 - 2537 ประกอบด้วย

(1) ค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจพื้นที่ดินโดยยังไม่มีการก่อสร้างใด ๆ

(2) ค่าใช้จ่ายสำหรับการออกแบบและการจัดการ

รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 53 ล้านบาท

เนื่องจากโครงการทั้งสองได้ล้มเลิกไปโดยจะไม่มีการก่อสร้างต่อไปอีกแต่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งสองตามที่กล่าวข้างต้น เป็นค่าใช้จ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน บริษัทฯไม่มีสิทธิ์นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรและจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ไม่ได้ เพราะการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และบริษัทฯ ยังไม่อาจใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นแต่ประการใดบริษัทฯ จะขอนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามโครงการทั้งสองดังกล่าว เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี ได้หรือไม่ อย่างใด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการที่พักอาศัย และโครงการโรงแรมตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ จะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินจะเริ่มหักนับตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา วันที่ถือว่าได้ทรัพย์สินมาหมายถึงวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้ คือวันที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งกรณีทรัพย์สินของบริษัทฯ เป็นทรัพย์สินที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นหากบริษัทฯ ประสงค์จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ ก็จะต้องทำการรื้อหรือทำลายสิ่งก่อสร้างดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นแต่ประการเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกรมสรรพากรอนุมัติเป็นอย่างอื่นได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/02447 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)