การหักค่าสึกหรอค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรข้อเท็จจริงบริษัทลูกค้าของสำนักงานงานนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงานตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ซึ่งบริษัทลูกค้าได้คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรในทางบัญชีและภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน ต่อมาในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี 2551 วิศวกรเครื่องจักรได้ประเมินอายุการใช้งานของเครื่องจักรว่า ควรมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี บริษัทลูกค้าจึงต้องเปลี่ยนอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในทางบัญชีเสียใหม่เป็นอัตราร้อยละ 10 เพื่อให้สอดคล้อง กับสภาพการใช้งานของเครื่องจักรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2551 และรอบระยะเวลาบัญชีปีต่อไป แต่ในทางภาษี บริษัทลูกค้ายังคงใช้วิธีคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนเหมือนเดิม บริษัทลูกค้าจะใช้วิธีคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรในอัตราร้อยละ 10 ในทางบัญชีโดยไม่ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (2) ประกอบมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)แนววินิจฉัยกรณีการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรดังกล่าว ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนั้น เมื่อบริษัทลูกค้าได้เลือกใช้วิธีคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรในอัตราร้อยละ 20 บริษัทลูกค้าจึงต้องใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป อย่างไรก็ดี หากบริษัทลูกค้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนอัตราค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากอัตราร้อยละ 20 เป็นอัตราร้อยละ 10 ก็กระทำได้โดยยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรและเมื่อได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายแล้วให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/3266 ลงวันที่ 17 เมษายน 2556 |