การส่งสินค้าออกที่ถือว่าขาย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทำสัญญาฝากขายสินค้ากับนิติบุคคลต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทำสัญญาฝากขายสินค้ากับนิติบุคคลต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับเพชรพลอย รวมถึงสินค้าตกแต่งบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในการประกอบกิจการดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการติดต่อกับคู่ค้าในต่างประเทศในลักษณะของการฝากขายสินค้า โดยทำสัญญาฝากขายสินค้าระหว่างกันซึ่งกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ส่งออกยังคงเป็นของบริษัทฯ จนกว่าจะมีการขายเกิดขึ้นจริงเมื่อผู้รับฝากได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อในประเทศหรือต่างประเทศแล้วแต่กรณี ซึ่งบริษัทฯ มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เป็นต้นหากผู้รับฝากสินค้าขายสินค้าไม่ได้ บริษัทฯ จะมีการนำสินค้ากลับเข้าในประเทศภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันส่งสินค้าออกไปฝากขายจึงหารือว่า กรณีการทำสัญญาฝากขายสินค้าดังกล่าวบริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร นั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (4) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ผู้รับฝากสินค้าซึ่งเป็นคู่ค้าในต่างประเทศตามสัญญาฝากขายสินค้า ถือได้ว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้น เป็นการขายในประเทศไทยและให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้นตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีสิทธินำต้นทุนสินค้าดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ หากผู้รับฝากสินค้าขายสินค้าไม่ได้และมีการส่งสินค้าดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทฯในประเทศไทยภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศนั้น กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการขายสินค้าในประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (4) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ สามารถปรับปรุงยอดขายตามตามแบบแสดงรายการที่ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งออกนั้น และนำสินค้าที่ส่งกลับคืนดังกล่าวมาคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/5047 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2561 |