การยื่นแบบของผู้ถึงแก่ความตาย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีขายอสังหาริมทรัพย์ข้อเท็จจริงนาย B เจ้ามรดก ทำการพัฒนาที่ดินและแบ่งขาย จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2539 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำสั่งตั้ง นางสาว A เป็นผู้จัดการมรดกของนาย B วันที่ 8 สิงหาคม 2550 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกมาเป็นของ นางอิชยาฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกฯ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นางสาว A ได้ขอหารือในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกให้แก่ผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ จะต้องนับการระยะเวลาการถือครองที่ดินตามการถือครองเดิมของเจ้ามรดกซึ่งถือครองเกินกว่า 10 ปีหรือนับระยะ เวลาการถือครอง 1 ปี ตามที่นางสาว A ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอง 2. กรณีที่นางสาว A ผู้จัดการมรดก โอนขายที่ดินมรดกของนาย B ซึ่งเป็นที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่ผู้ซื้อ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ เพระเหตุใด 3. กรณีที่นางสาว A ผู้จัดการมรดก โอนที่ดินมรดกของนายนิวัตน์ ให้แก่ทายาทแต่ละคนต่อมาทายาทได้โอนขาย ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ เพราะเหตุใด 4. กรณีที่นางสาว A ผู้จัดการมรดก โอนที่ดินมรดกของนาย B ให้แก่ทายาทการนับระยะเวลาในการถือครอง ที่ดินของทายาทจะนับตั้งแต่เมื่อใด 5. กรณีที่ทายาทมอบหมายให้นางสาว A ผู้จัดการมรดก จัดการมรดกต่อไปภายในระยะเวลา 5 ปี การโอนขาย ที่ดินมรดกของนาย B ซึ่งเป็นที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่ผู้ซื้อ จะต้องเสียภาษีธุรกิจหรือไม่ 6. การนับระยะเวลาที่กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งการถือครองที่ดินจะนับตั้งแต่เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตหรือนับตั้งแต่ วันที่จดทะเบียนผู้จัดการมรดก กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342)แนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. 4. และ 6. การนับวันเริ่มปีที่ถือครองที่ดินซึ่งได้มาโดยทางมรดกเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบุคคลธรรมดาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกนั้น ตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดไปยังทายาท ของผู้นั้นทันที โดยไม่ต้องมีการแสดงเจตนารับ โดยถือว่า ทายาททุกคนเป็นเจ้าของร่วม มีสิทธิหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ร่วมกัน จนกว่าจะแบ่งทรัพย์มรดกกันเสร็จเรียบร้อย ตามมาตรา 1745 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์มรดกทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้รับพินัยกรรม จึงบริบูรณ์ กรณีต้องมีผู้จัดการมรดกมาดำเนินการแบ่งนั้น เป็นแบบพิธีการหรือการให้มีผู้ดูแลทรัพย์มรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดก ให้เป็นประโยชน์แก่กองมรดกและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ดังนั้น การนับวันเริ่มปีที่ถือครองเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบุคคลธรรมดาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้เริ่มนับปีที่ถือครองตั้งแต่วันที่มรดกได้ตกแก่ทายาทตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับกรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนาย B ผู้มีเงินได้ซึ่งถึงแก่ความตายในปีภาษี 2550 นางสาว A ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของนาย B ผู้ตาย โดยให้รวมเงินได้พึงประเมิน ของนาย B และของกองมรดกของนาย B ที่ได้รับตลอดปีภาษี 2550 เป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่นในนามของนาย B ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร การนับจำนวนปีที่ถือครองเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ นับจำนวนปีที่ครองของนาย B ผู้ตายตามปกติ ในปีภาษีต่อไป หากกองมรดกของนาย B ยังมิได้แบ่งและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท นางสาว A ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้พึงประเมินในนามกองมรดกของนาย B ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร การนับจำนวนปีที่ถือครองให้นับตั้งแต่วันที่มรกดตกทอดแก่ทายาท ตามมาตรา 1599 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. กรณีตาม 1.2 นางสาว A ผู้จัดการมรดก โอนขายที่ดินกองมรดกของนาย B ซึ่งเป็นที่ดินในโครงการจัดสรร หรือที่ ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ให้แก่ผู้ซื้อ หากเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือ หากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4(1)(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีตาม 1.3 นางสาว A ผู้จัดการมรดก โอนที่ดินมรดกของนาย B ให้แก่ทายาทแต่ละคน ต่อมาหากทายาทได้โอน ขายที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นไปในสภาพเดิมที่ได้รับโอนมา เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทาง มรดกได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4(6)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 4. กรณีตาม 1.5 ทายาทมอบหมายให้นางสาว A ผู้จัดการมรดก จัดการมรดกต่อไปภายในระยะเวลา 5 ปี การโอนขาย ที่ดินมรดกของนาย B ซึ่งเป็นที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่ผู้ซื้อ หากเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4(1)(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จะอยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/587 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2551 |