Skip to Content

การยื่นรายการของผู้ที่ถึงแก่ความตาย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกองมรดกให้เช่าที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกองมรดกให้เช่าที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน


ข้อเท็จจริง

1. คณะบุคคลฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินรวม 5 โฉนด

2. นาย พ. นาง ร. และนาย ส. ได้เสียชีวิต และมีการตั้งผู้จัดการมรดกเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ดังนี้

(1) นาย พ. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2530 มีนาย ศ.และนาง ว.เป็นผู้จัดการมรดก

(2) นาง ร. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 มีนาง ภ. เป็นผู้จัดการมรดก

(3) นาย ส. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 มีนาง น. เป็นผู้จัดการมรดก

3. นาย ศ. และนาง ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย พ. นาง ภ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ร. และนาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ได้ทำสัญญาให้บริษัท ช. จำกัด (บริษัทฯ) เช่าที่ดินที่ผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ต่อจากสัญญาเช่าเดิมอีก 3 ปี จำนวน 2 ฉบับ

4. คณะบุคคลฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการต่างๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าเช่าตามสัญญาเช่า ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ดังนี้

4.1 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการล่วงหน้า สำหรับปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2553 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 ดังนี้

ปีภา               จำนวนภาษีที่ชำระ (บาท)

2550                 874,287.67

2551               3,742,233.33

2552               3,742,233.33

2553               2,455,511.87

4.2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ไม่มีภาษีที่ต้องชำระ

4.3 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 แสดงรายการเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงิน 4,638,079.21 บาท มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2,027,337.75 บาท และมีภาษีชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 874,287.67 บาท ขอคืนเงินภาษีอากร 1,896,915.22 บาท


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. คณะบุคคล คือ สัญญาที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ซึ่งมาตรา 15 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดสภาพบุคคลไว้ว่า ให้เริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย เมื่อบุคคล ในคณะบุคคลเสียชีวิต และกองมรดกไม่มีสภาพบุคคล คณะบุคคลย่อมเป็นอันสิ้นสภาพลง

2. กรณีนาย พ. นาง ร. และนาย ส. เสียชีวิต ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดไปยังทายาทโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อกองมรดกของนาย พ. นาง ร. และนาย ส. มีทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินที่ยัง ไม่ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใดและจำนวนเท่าใด แต่ผู้จัดการมรดกได้ร่วมกันทำสัญญาให้บริษัทฯ เช่าที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งจำนวน 3 กองมรดกคือ กองมรดกนาย พ. กองมรดกนาง ร. และกองมรดกนาย ส. ซึ่งต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของแต่ละกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีผู้ตายทั้ง 3 ราย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่ให้บริษัทฯ เช่า ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในนามของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งของแต่ละกองมรดกตาม 2. แต่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้ง 3 ราย ได้ยื่นแบบแสดง รายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมทั้งขอคืนภาษีในนามของคณะบุคคลฯ เนื่องจากไม่เข้าใจในข้อกฎหมายนั้น ถือได้ว่า กองมรดกแต่ละกองที่มีหน้าที่เสียภาษี ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี เพราะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการและชำระ ภาษีผิดหน่วยภาษี ดังนั้น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ละรายจึงต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ในนามของกองมรดกผู้ตายแต่ละรายใหม่ โดยให้เฉลี่ยค่าเช่าเป็นเงินได้ของกองมรดกแต่ละกองตามส่วน และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีซึ่งได้เสียภาษีไปแล้ว แต่ ผิดหน่วยภาษี จึงอนุโลมให้นำภาษีที่ชำระไว้ผิดหน่วยภาษีนั้นมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในนามกองมรดกแต่ละกองได้ ส่วนแบบ ภ.ง.ด.94 และแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในนามคณะบุคคลฯ นั้น จะต้องยื่น แบบแสดงรายการเสียภาษีในนามกองมรดกแต่ละกอง พร้อมทั้งให้คำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลมให้นำภาษีที่เสียภาษีไปแล้วมาหักออกได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/7863 ลงวันที่ 21 กันยายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)