การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลต่างที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลต่างที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้ข้อเท็จจริงบริษัท ร. หารือกรณีผลต่างที่ได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้ บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและเกิดภาวะขาดทุนเป็นหนี้ธนาคารหลวง ไทย จำกัด (มหาชน) มูลหนี้ 89,513,893.56 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 รวมเป็นมูลหนี้ 118,214,965.32 บาท โดยมีโฉนดที่ดินที่จังหวัดนครปฐมเป็นหลักประกัน จำนวน 391 ไร่ ธนาคารฯ ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 และได้โอนหนี้ทั้งหมดให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้โอนหนี้ให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย บริษัทฯ ได้ตกลง ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เลขที่ บสท.001 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 และเจ้าของที่ดินได้นำเงินมาชำระหนี้แทนบริษัทฯ โดยบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 และได้ชำระเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ผลต่างที่บริษัทฯ ได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 29 แห่งพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544แนววินิจฉัยการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง บสท. กับบริษัทฯ เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ บสท. ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 ดังนั้น กรณีที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างหนี้กับ บสท. หากบริษัทฯ ได้รับการปลดหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ซึ่งถือ เป็นรายได้ของบริษัทฯ บริษัทฯ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ดังกล่าว ตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3866 ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 |